เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 22 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมที่ค้างไว้ในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 7-8 เม.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในการพิจารณามาตรา 55 ว่าด้วยความผิดและบทกำหนดโทษของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มาตราดังกล่าว กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษคุก 1 – 10 ปี ปรับ 2 หมื่น ถึง 2 แสนบาท ตัดสิทธิการเลือกตั้งไม่ต่ำว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม ขอเสนอให้เพิ่มข้อความการกำหนดโทษเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการออกเสียงให้มีความครอบคลุมมากขึ้น และรวมถึงการกำหนดโทษผู้ที่วางตัวไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า อยากให้การออกเสียงประชามติ มีข้อกำหนดเพื่อป้องกันการใช้อำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ผู้อื่นออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเรามักจะได้ยินคำว่ามีคนสั่งมา มีนายสั่งมา ซึ่งบางครั้งอำนาจทางอ้อมมีอำนาจมากว่าอำนาจทางตรง ส่งผลต่อเสียงประชามติให้ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะโครงสร้างวัฒธรรมของไทยนั้นมีชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำงานได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม เช่น กรณีค่ายทหารตั้งเตนท์รณรงค์การออกเสียงประชามติ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าทหารเกณฑ์จะไม่ถูกครอบงำ เพราะยังอยู่ภายใต้ผู้บังคับบัญชา ดังนั้น หากเรามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพล ทำให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ก็ควรจะมีบทลงโทษด้วย
จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประสบการณ์เลือกตั้งปี 2557 มีเจ้าหน้ารัฐบางส่วน ช่วยเหลือให้มีการขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ 7 ปีที่ผ่านมาประชาธิปไตยไทยถอยหลังลงคลอง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนอาจถูกกดดันจากผู้มีอำนาจ หรือมีคนอยู่เบื้องหลัง จึงเสนอให้ ลดบทลงโทษ จากจำคุก 1-10 ปี เป็นไม่เกิน 3 ปี และเจ้าหน้าที่ควรมีขอบเขตอำนาจที่ชัดเจน การปฎิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ ต้องอยู่ที่การวินิจฉัยของคณะกรรมการ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การกำหนดโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นั้น ถือว่าแคบเกินไป ดังนั้ง จึงเสนอให้หมายถึงเจ้าหน้าของรัฐทุกส่วนทุกฝ่าย รวมถึงข้าราชการทุกประเภท รวม ส.ส. ส.ว. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อป้องกันการครอบงำการออกเสียง มิเช่นนั้น การออกเสียงประชามติจะเป็นไปอย่างไม่ทุจริตยุติธรรม
พีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวว่า มาตรา 55 มุ่งลงโทษเจ้าหน้าของรัฐ ที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากเป็นบุคคลอื่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นกระทำความผิด แม้จะไม่มีความผิดตามมาตรานี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ผิดตามมาตราอื่น เพราะมาตรานี้ มุ่งไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ลงมติ 374 ต่อ 124 งดออกเสียง 3 เห็นด้วยตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก
สำหรับสาระสำคัญ ในการพิจารณาวันนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐของรัฐสภา ให้ความเห็นชอบ เช่น มาตรา 60 บัญญัติว่า การกระทำขัดขวางเพื่อให้การออกเสียงประชามติ ไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย , ให้ เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ เพื่อจูงใจให้การออกเสียงเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง , การเปิด ทำลาย หรือขัดขวางการส่งหีบบัตรออกเสียงประชามติ ต้องระวางโทษไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
มาตรา 63 ระบุ ว่า กรรมการประจำหน่วยผู้ใดใช้สิทธิของผู้อื่นในการลงคะแนนออกเสียง หรือจงใจนับบัตรออกเสียงหรือคะแนนออกเสียง หรือรวมคะแนนออกเสียงให้ผิดไปจากความจริง หรือกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรออกเสียงชำรุดหรือ เสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการด้วยประการใดแก่บัตรเสีย เพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้หรืออ่านบัตรออกเสียงให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการออกเสียงประชามติไม่ตรงความจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่ง 1 ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท
มาตรา 67 ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และการกระทำของผู้เป็นตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำ ความผิดนั้น แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น ได้กระทำในราชอาณาจักร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติมีทั้งหมด 67 มาตรา ช่วงท้าย เฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เสนอให้เพิ่มมาตรา 68 กำหนดว่า ห้ามมิให้กรรมการ เลขาธิการผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรือเจ้าพนักงาน ผู้ดำเนินการออกเสียง หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการออกเสียงตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี
โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติ ไม่เห็นด้วยให้เพิ่มมาตรา 68 ดังกล่าว
จากนั้น พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ประกาศให้ลงมติในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติวาระ 3 ต่อเนื่อง โดยที่ประชุมลงมติ 611 ต่อ 4 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ