นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายพาณิชย์) ประจำกรุงโตเกียว นางพิมใจ มัตสึโมโต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ และคณะ เข้าเยี่ยมชมขั้นตอนการนำเข้าสินค้าไทย รวมถึงรับชมการสาธิตขั้นตอนการบ่มกล้วยหอมเพื่อเร่งความสุก การคัดแยกสินค้าก่อนกระจายสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ณ ท่าเรือไดโกกุ นครโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567
ในการนี้ Mr. Takayuki Kataoka ประธานกรรมการ บริษัท เบย์ คอมเมิร์ซ จำกัด พร้อมด้วย Mr. Hideyasu Kobayashi ผู้จัดการ และ Mr. Yoshida Ryosuke รองผู้อำนวยการอาวุโส โครงการการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership Program) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ให้การต้อนรับและเข้าร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพกล้วยหอมไทยให้มีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศญี่ปุ่น
นายวรวงศ์ รามางกูร “กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกระทรวงที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรฐกิจโดยตรง และมีหน้าที่ในการจัดหาตลาดสำหรับสินค้าไทย ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรทั้งหมดด้วย หลังจากได้รับทราบความต้องการตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของผู้นำเข้าฝ่ายประเทศญี่ปุ่น พบว่า สาเหตุที่ส่งผลให้ไทยส่งออกผลไม้มายังประเทศญี่ปุ่นได้ค่อนข้างน้อยและไม่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ คือ
1. เกษตรกรไม่ทราบความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงไม่ทราบหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของประเทศปลายทาง จึงไม่สามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงกับข้อกำหนดของตลาดปลายทาง
2. ขาดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้ส่งออกอย่างจริงจัง ทำให้ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอต่อการส่งออกในบางฤดูกาล ราคาในแต่ละฤดูกาลจึงมีความผันผวนอย่างหนัก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้นำเข้าและผู้บริโภค
3. ขาดการส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ไทย อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้จะช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่ราคาตกต่ำไม่ให้ต่ำจนเกินไป และช่วยดึงปริมาณผลผลิตออกจากตลาดในลักษณะที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า อีกทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ไทย เป็นที่นิยมในต่างประเทศไม่ยิ่งหย่อนกว่าผลไม้สด การส่งเสริมการแปรรูปผลไม้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขยายโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศ
เช่นกล้วยหอม ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกมายังประเทศญี่ปุ่นได้เพียง 3,000 ตันต่อปี น้อยกว่าโควตาที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลญี่ปุ่น และหากเทียบกับความต้องการบริโภคที่มากถึง 1 ล้านตันต่อปี แต่กล้วยหอมไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น ซึ่งไทยเราเสียโอกาสทางการค้าเป็นอย่างมาก หากเราสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตให้มีมาตรฐานและปริมาณที่คงที่ ผมเชื่อว่ากล้วยหอมไทยจะกลายเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูก เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นชื่นชอบกล้วยหอมไทยมากกว่ากล้วยหอมประเทศอื่น เพราะกล้วยหอมไทยมีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่าและจัดเป็นสินค้าพรีเมี่ยม“
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ”กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ในฐานะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลราคาสินค้าเกษตร มีแนวทางในการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม เพื่อขยายปริมาณการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณนอกจากนั้น เนื่องจากขณะนี้มันสำปะหลังยังมีปัญหาเรื่องราคา กรมการค้าภายในจึงมีแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ปลูกมันสำปะหลังมีทางเลือกในการสร้างรายได้ผ่านการปลูกกล้วยหอมเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะใน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันได้มีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มเริ่มปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นการปลูกกล้วยหอมมากขึ้นแล้ว ซึ่งตลาดปลายทางกล้วยหอมมีตลาดที่แน่นอนและเกษตรกรขายได้ในราคาสูง
โดยในช่วงเดือนมกราคมปี 2568 กรมจะลงพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมารวมถึงแหล่งผลิตอื่นๆที่มีศักยภาพในการปลูกกล้วยหอม เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการการส่งเสริมการเพาะปลูกกล้วยหอมเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นอย่างจริงจัง โดยแนวทางเบื้องต้นจะเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมหรือเกษตรกรที่มีความสนใจในการปลูกกล้วยหอมทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายกับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกกล้วยหอมในประเทศญี่ปุ่น