การเลือกตั้งที่จะมาถึงในช่วงกลางปี 2566 เป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของการเมืองไทย นอกจากจะสำคัญสำหรับประชาชนที่ต้องออกไปแสดงเจตจำนงของตนเองต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งที่การเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างยิ่งคือนักการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง
นักการเมืองหลายคนยังคงรักษาจุดยืนและเตรียมพิสูจน์ตนเองผ่านการเลือกตั้งรอบนี้ หลายคนใช้โอกาสนี้กลับ ‘บ้านหลังใหญ่’ หลายคนขอ ‘กลับใจ-ย้ายขั้ว’ ขอเลือกเส้นทางและบ้านหลังใหม่ หลังจากผิดหวังจากบ้านหลังเดิม หลายคนก็ถูก ‘พลังไดโว่’ ดูดอย่างหนัก ระดับสลับขั้วกันภายในพริบตา!
นอกจากดูดตัวผู้สมัคร ยังลามมาถึง ‘ดูดนโยบาย’ กันแล้ว แน่นอน เรากำลังพูดถึง คู่ต่อสู้ที่แข่งกันอย่างหนักในระดับจังหวัดและภูมิภาคอย่าง พรรคเพื่อไทย VS พรรคภูมิใจไทย
พรรคหนึ่งเปิดแคมเปญแลนสด์สไลด์ ขณะที่อีกพรรคมีมอตโต้ ‘พูดแล้วทำ’ พร้อมตั้งเป้าได้ส.ส.เพิ่มอีกเท่าตัว วอยซ์ชวนดู ‘บัญชีชน’ ของ 2 ค่ายใหญ่กันชัดๆ ว่าจังหวัดไหน ใครชนกับใคร ฟาดฟันกันระดับไหน แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าเซียนการเมืองจะคาดเดาอย่างไร ทุกอย่างอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน
‘มุมแดง’ อย่างพรรคเพื่อไทยนั้น สืบทอดเจตนารมย์มาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนเพราะถูกยุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง คือ หลังประหาร 2549 ในปี 2550 ยุบไทยรักไทย และปลายปี 2551 ยุบพลังประชาชน ต่อมาในปี 2552 จึงเดินทางมาต่ออีกครั้งในนาม ‘เพื่อไทย’ ผ่านการชนะเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งปี 2554 ถูกรัฐประหารอีก 1 ครั้งในปี 2557 ผ่านการเลือกตั้งในปี 2562 ชนะที่ 1 แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะตัวแปรสำคัญอย่าง ‘ภูมิใจไทย’ ที่ประกาศว่า ‘ไม่เอาประยุทธ์’ แต่กลับไปจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ปี 2566 เพื่อไทยประกาศยุทธศาสตร์ ‘แลนด์สไลด์’ และดูท่าว่าจะมีความพร้อมมากกว่าใครเพราะเปิดตัวแต่เนิ่น
‘มุมน้ำเงิน’ อย่างพรรคภูมิใจไทย จะว่าไปผู้ก่อตั้งพรรคนี้ก็คือหนึ่งใน ‘แกนนำคนสำคัญ’ ของไทยรักไทยอย่างเนวิน ชิดชอบ และอนุทิน ชาญวีรกูล ทั้ง 2 คนต่างเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาลทักษิณมาก่อน โดยเฉพาะ ‘ครูใหญ่เนวิน’ อดีตหนึ่งในขุนพลใหญ่ของพรรค อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
จุดพลิกผันสลับขั้วอย่างฉับพลันของเขา เกิดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หลังการปลดสมัคร สุนทรเวช ออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ผ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนการยุบพรรคพลังประชาชน มีรายงานซึ่งเล่าจากปากของ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ว่า เขาและเนวินบินไปเจรจาลับกันที่ร้านนาฬิกาแห่งหนึ่ง ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อเปิดดีลตั้งรัฐบาล โดยอาศัยเสียง ส.ส.จาก ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ ในการยกมือให้ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี การเจรจาของบุคคลทั้ง 2 ลุล่วงไปด้วยดี สามารถเปิดดีล ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร (กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภฯ ย่านวิภาวดีฯ) และหลังการยุบพรรคพลังประชาชน ปลด ‘สมชาย วงษ์สวัสดิ์’ ออกจากตำแหน่งนายกฯ ส.ส.กลุ่มกลุ่มเพื่อนเนวิน 32 คน ก็ยกมือให้อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการ นับ 1 จุดแตกหักระหว่างเพื่อนเนวิน VS ดีเอ็นเอไทยรักไทย
ในการเลือกตั้ง ปี 2554 พรรคภูมิใจไทยประสบกับความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการเลือกตั้งรอบนั้นได้ ส.ส.เพียง 34 คน และเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ถัดจากนั้นในการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคภูมิใจไทยกลับมาอีกครั้ง ในฐานะ ‘พรรคขนาดกลาง’ เป็นตัวแปรสำคัญในการชี้เป็นชี้ตายว่า ‘ขั้วไหน’ จะได้เป็นรัฐบาล เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้นได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมารวมทั้งหมดถึง 50 คน รวมถึงมีการ ‘ดูด ส.ส.’ เข้ามาเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ จนปัจจุบันพรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.ทั้งหมด 63 คน
ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หลายคนจับตาดูการเติบโตอย่าง ‘ม้ามืด’ ของภูมิใจไทย ผ่านการล็อกเป้าบ้านใหญ่-แชมป์จากหลายพรรค และคนมีคะ ถึงขนาดมั่นใจที่จะประกาศว่าน่าได้ถึง 100-120 ที่นั่งในรอบนี้ ซึ่งนั่นจะกลายเป็นพรรคอันดับ 2 รองจากเพื่อไทย จึงไม่แปลกที่กูรูการเมืองจำนวนมากวิเคราะห์ว่าอีกหนึ่งคู่แข่งสำคัญของเพื่อไทยในระดับพื้นที่ก็คือ ภูมิใจไทย
รู้กันดีอยู่เต็มอกว่า 'เชียงราย' ถือเป็นเมืองหลักของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งหลายครั้งเรียกได้ว่า ‘แลนด์สไลด์’ แดงทั้งจังหวัด ในปี 2554 ทั้ง 7 เขตของเชียงรายเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งหมด แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ต้องเสียให้พรรคอนาคตใหม่ไป 2 เขต และในรอบนี้เพื่อไทยมีเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” ในพื้นที่นี้อีกหน แต่ก็เจอความท้าทายสำคัญ
‘สามารถ แก้วมีชัย’ ลูกหม้อตั้งแต่ยุคไทยรักไทย อดีต ส.ส.เขต 1 ของพรรคเพื่อไทย ยกครัว ‘บ้านวันชัยธนวงษ์’ ซึ่งเป็นบ้านของ นายก อบจ.เชียงราย อธิตาธร วันไชยธนวงศ์ โดยหอบเอา รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าโรงเรียน 'ค่ายน้ำเงิน' ของครูใหญ่เนวิน ผนึกกำลังกับ ส.ส.ก้าวไกล ทั้ง 2 เขตที่ย้ายซบพรรคภูมิใจไทย มีเป้าหมายเพื่อพุ่งชนเพื่อไทยโดยเฉพาะ
กลับมาดูฝั่ง 'เพื่อไทย' ที่ตั้งป้อมสู้กับค่ายน้ำเงิน พบ 2 ตระกูลใหญ่ที่อยู่กับไทยรักไทยมาอย่างยาวนานอย่าง ‘เตชะธีราวัฒน์’ และ ‘ติยะไพรัช’ ส.ส.เก่าอย่าง ‘พิเชษฐ เชื้อเมืองพาน’ และตระกูลการเมืองตำนานเมืองเชียงรายอย่าง ‘จงสุธนามณี’ ซึ่งมีฐานเสียงผู้สนับสนุนอย่างหนาแน่นชนิดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สนามเชียงรายจึงถือว่าดุเดือดอย่างยิ่งสำหรับ 2 ค่ายนี้
ขอรวบตึง 2 จังหวัด 'ปทุมธานี-นนทบุรี' ไว้ข้อเดียวกัน 2 จังหวัดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพรรคเพื่อไทย ในอดีตทั้ง 2 จังหวัดถูกจัดเป็น ‘พื้นที่สีแดง’ มี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยยกจังหวัด เรียกได้ว่า ถ้าในกรุงเทพฯ เป็นประชาธิปัตย์ รอบๆ ก็ถูกล้อมโดยเพื่อไทย แต่หลังการเลือกตั้ง 2562 ความจริงเหล่านี้เปลี่ยนไป
'เมืองนนท์' จังหวัดที่ได้ชื่อว่าแดงยันแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน ได้ ส.ส.จากไทยรักไทยตั้งแต่ปี 2544 2548 2550 และได้ในระดับแลนด์สไลด์ยกจังหวัดในปี 2554 และเกือบยกจังหวัด ตกไป 1 เขตให้พลังประชารัฐในปี 2562 แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 นนทบุรีจะมีเขตเพิ่มจาก 6 เขตเป็น 8 เขต ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แชมป์เก่าอย่างเพื่อไทย เมื่อ ‘ฉลอง เรี่ยวแรง’ และ ‘วันชัย เจริญนนทสิทธิ์’ สองอดีตเพื่อไทย มอบใจให้กับ “ครูใหญ่เนวิน” (สำหรับฉลองย้ายค่ายตั้งแต่การเลือกตั้ง 2562 ไปอยู่พลังประชารัฐ)
เมื่อมีปัจจัยเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่อง่ายที่เพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ในนนทบุรี ทวงศักด์ศรี ‘เรดนนท์’ กลับคืนมา แต่กระนั้นก็ฟอร์มทีมทวงศักดิ์ศรีคืนกลับมาเช่นกัน โดยการส่งทั้ง ส.ส.เก่าและใหม่ตั้มป้อมสู้ อาทิ ส.ส.ปัจจุบัน 3 คน คือ จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์, มานะศักดิ์ จันทร์ประสงค์, มนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่เหลืออีก 4 คน ประกอบด้วย นพดล แก้วสุพัฒน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย, นิทัศน์ ศรีนนท์ อดีต ส.ส.นนทบุรี, นิยม ประสงค์ชัยกุล รองนายก เทศมนตรีนครนนทบุรี, ปณรัศม์ วันชาญเวช ลูกสาวของ วันชัย วันชาญเวช นายกเทศมนตรีตำบลบางสีทอง และจำลอง ขำสา อดีตประธานสภา อบจ.นนทบุรี
'ปทุมธานี' ถือว่าจัดจ้านในย่านปริมณฑล เพราะจังหวัดนี้คือฐานหลักในการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดง และเป็นฐานสำคัญของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าการเลือกตั้ง 2562 เพื่อไทยจะไม่แลนด์สไลด์ที่นี่ และเสียที่นั่ง ส.ส.ให้อนาคตใหม่กับภูมิใจไทยไปอย่างละเขต จากทั้งหมด 6 เขต
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีเมื่อปี 2563 ‘นายกฯ แจ๊ส’ หรือ พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครนายก อบจ.ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยกลับได้รับการเลือกตั้งแบบ(เกือบ)แลนด์สไลด์ เอาชนะ ‘ชาญ พวงเพ็ชร’ ผู้ท้าชิงที่ได้รับการสนับสนุนสรรพกำลังจากภูมิใจไทย
ทว่าตัดภาพมาที่การเลือกตั้งใหญ่ 2566 การเลือกตั้งครั้งนี้ย่อม ‘ไม่หมู’ สำหรับเพื่อไทย เมื่อทีม อบจ.ของบิ๊กแจ๊สหลายคน ไหลรวมเข้าภูมิใจไทย อาทิ พล.ต.ต.วัฒนา วงศ์จันทร์ ที่ปรึกษาพิเศษนายก อบจ. สายตรงบิ๊กแจ๊ส, ณัฐธิดา เกียรติพัฒนาชัย ลูกสาวเฮียเหน่ง สมศักดิ์ เกียรติพัฒนาชัย ประธานที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครรังสิตและแกนนำแดงปทุมฯ รวมถึงอนาวิล รัตนสถาพร อดีตอนาคตใหม่ที่เป็นงูเห่า ย้ายซบภูมิใจไทย และพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.เพื่อไทยที่ไปอยู่กับภูมิใจไทย หลังถูกขับออกจากเพื่อไทย
หันกลับมาดูฝั่งเพื่อไทย พบการจัดทัพผู้สมัครใหม่-ผสมคนเก่า ที่อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม ดีกรีแต่ละคนก็ไม่ธรรมดาและพร้อมชนเช่นกัน อาทิ สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล และศุภชัย นพขำ 2 คนเก่าแก่อยู่มาอย่างยาวนานตั้งแต่ไทยรักไทย, ยุทธศักดิ์ ชูประเสริฐ ที่ปรึกษาพิเศษบิ๊กแจ๊ส, สุทิน นพขำ , ชัยยันต์ ผลสุวรรณ์, ชนภัทร นันทกาวงศ์, ยงยุทธ มั่นบุปผชาติ และที่ยังไม่ได้เปิดตัวอีก 1 เขต
ทางด้านตัวต้นเรื่องอย่าง ‘บิ๊กแจ๊ส’ หรือ พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.คนดัง กับตำนาน ‘มีวันนี้เพราะพี่ให้’ ได้ประกาศจุดยืนของตนเองว่า “ใจของเขายังอยู่กับพี่โทนี่ ไม่เปลี่ยนแปลง” แม้ว่าคนของตัวเองบางส่วนจะกระจัดกระจายไปอยู่ทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทย หรือแม้ว่า ‘อนุทิน’ จะเอาชื่อของเขาไปประกาศบนเวทีว่า บิ๊กแจ๊สสนับสนุนพรรคภูมิใจไทย และฝากความหวังไว้กับนโยบาย ‘โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล-เครื่องฉายรังสีมะเร็ง’
'อยุธยา' หรือนามเดิมที่เรียกกันยาวๆ ในหนังสือแบบเรียน ‘กรุงอโยธาศรีรามเทพนคร’ ถือว่าเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทย
เดิมทีอยุธยาเป็นถิ่นเพื่อไทย หากถอยไปยุคไทยรักไทยคือแลนด์สไลด์ทุกรอบ รอบปี 2554 ช่วง ‘ยิ่งลักษณ์’ ฟีเวอร์ แม้จะเสียเขต 1 ให้พรรคชาติไทยพัฒนา แต่เขต 2 ยันเขต 5 เป็น ส.ส.จากเพื่อไทย มีแม่ทัพใหญ่ชื่อ ‘เสี่ยอ๊อด-วิทยา บุรณสิริ’
การเลือกตั้งปี 2562 อยุธยาถูกหั่นเขตลดลงเหลือ 4 เขต ถึงกระนั้นเพื่อไทยยังคงรักษาพื้นที่ไว้ได้ชนิดหืดขึ้นคอ 2 เขต ซึ่งก็ไปภูมิใจไทยเสีย 1 เขตคือ ‘นพ ชีวานันท์’ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เรียบร้อยโรงเรียนครูใหญ่เนวิน ซ้ำร้ายเหมือนมรสุมซ้ำ รอบนี้เพื่อต้องสูญเสียกับแม่ทัพอย่างเสี่ยอ๊อด วิทยา อดีตรมว.สาธารณสุขสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เสียชีวิตอย่างกระทัน
ประกอบกับทีมเดิมที่แข็งโป๊กของ ‘ซ้อสมทรง’ หรือ สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ. ก็ย้ายไปเป็นขุมกำลังใหญ่ให้ภูมิใจไทย ทำให้โอกาสของเพื่อไทยที่จะรักษาพื้นที่กรุงเก่าให้กลับมาแดงเข้มอีกครั้งยากยิ่งขึ้น
หากเปิดรายชื่อผู้สมัครจากทางเพื่อไทยจะพบว่าเป็นหน้าใหม่เกือบหมด มีหน้าเก่าและ ส.ส.ปัจจุบันเพียง 2 คน อาทิ อัณณพ อารีย์วงศ์สกุล นักธุรกิจไฟแรง ลงเขต 1 ชนแชมป์เก่าจากภูมิใจไทย ส่วนเขต 2 ส่งสุรเชษฐ์ ชัยโกศล อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ย้ายจากเขต 1 มาลงเขต 2 ส่วนเขต 3 เพื่อไทยส่งองอาจ วชิรพงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ายมาอยู่กับเพื่อไทย เขต 4 ส่ง ส.จ.แบงค์ หรือ อาทิตย์ ภาคอินทรีย์ ลงสมัยแรก (แทนพื้นที่ของวิทยา บุรณศิริ ผู้ล่วงลับ) สำหรับเขต 5 เพื่อไทยส่งตัวตึงอย่าง จิรทัศ ไกรเดชา ส.ส.ปัจจุบันของพรรค ที่หลายค่ายอยากได้ตัว ข่าวเม้าว่าคุยกันด้วยน้ำหนักสิบกว่าโล แต่ก็ยังยืนยันที่จะอยู่กับเพื่อไทยต่อไป
สำหรับผู้เล่นจากภูมิใจไทย ทั้งตัวดึง-ตัวดูดมามีครบ พร้อมชนกับเพื่อไทยชนิดเขตต่อเขต อาทิ เขต 1 เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต รมช.คมนาคม รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เขต 2 นพ ชีวานันท์ ส.ส.เก่าพรรคเพื่อไทย ลงสนามด้วยเสื้อตัวใหม่ เขต 3 ส.จ.พิมพฤดา ตันจรารักษ์ ลงสมัครครั้งแรก คนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือหลานรักซ้อสมทรง ส่วนเขต 4 สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล นามสกุลไม่ต้องสงสัย ลูกชายซ้อสมทรง ส.ส.ดั้งเดิมจากภูมิใจไทย สำหรับเขต 5 พรรคภูมิใจไทยส่งคนใหม่ ประดิษฐ์ สังขจาย
ถึงแม้ว่า 2 จังหวัดนี้จะเป็นเพียงเมืองรองหรือเป็นเพียงทางผ่านสู่เมืองใหญ่ แต่ทว่าศึกแห่งศักดิ์ศรีของ ‘บ้านใหญ่’ 2 จังหวัดนี้ สะเทือนเลื่อนลั่นระดับสะท้านทุุ่ง
เริ่มที่เมืองชาละวันกุมภีร์ จระเข้แสนดีอยู่ในถ้ำธารา อย่าง ‘พิจิตร’ ที่ได้ชื่อว่าดุเดือดระดับ ดอกจันสองตัว เพราะทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทย ต่างส่ง ‘ตัวจริง’ ลงสนามในการเลือกตั้งรอบนี้ ทั้ง 3 เขต
ภูมิใจไทย จัดเต็มดูดกลับทั้งตระกูลดัง ‘ภัทรประสิทธิ์’ ที่เคยอยู่มาทั้งไทยรักษาชาติ ชาติไทยพัฒนา และประชาธิปัตย์ซึ่งเคยมี ‘ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์’ เป็นเลขาพรรค พร้อมขุมกำลังระดับ นายก อบจ.พิจิตร เสริมทัพของเดิมอย่างตระกูล ‘ขจรประศาสน์’ ลูกหลานป๋าหนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) ที่อยู่กับภูมิใจไทยมาแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 และวาดหวังว่าจะกวาดยกจังหวัดทั้ง 3 เขต ในการเลือกตั้งรอบนี้
เพื่อไทย ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีตระกูล ‘เหลือวิจิตร’ ของ ‘เจ๊ณีย์’ หรือสุณีย์ เหลือวิจิตร อดีต ส.ส.เก่าของพรรค เป็นแม่ทัพหลัก เสริมทัพด้วยอดีต ส.ส.เก่าอย่าง ‘ภูดิท อินสุวรรณ์’ เด็กในทีม สมศักดิ์ เทพสุทิน ผู้ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน รอบนี้ย้ายจากพลังประชารัฐมาสวมเสื้อเพื่อไทย อาศัยการลงพื้นที่ต่อเนื่องบวกกระแสแลนด์สไลด์ ส่วนอีกคนหนึ่งที่ท้าชิงบ้านใหญ่ค่ายน้ำเงิน คือ วิชัย ด่านรุ่งโรจน์ อดีต ส.ว.สายเลือกตั้ง รอบที่แล้วสวมเสื้อภูมิใจไทยลงสนาม แม้ว่าจะได้คะแนนอันดับ 2 ก็ถือว่าเป็นกอบเป็นกำ รอบนี้สวมเสื้อค่ายแลนด์สไลด์ ลง ส.ส.เพื่อไทยเขต 3 แข่งกับตัวตึงอย่าง ‘ลูกป๋าหนั่น’ ที่รอบนี้ประกาศลั่นขอลงเขตในค่ายครูใหญ่เนวิน
'สุโขทัย' มีข่าวลือที่ได้รับการยืนยันว่ามาร่วมสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์อย่างแน่นอน สำหรับ ‘ศิษย์เก่าไทยรักไทย’ ที่ชื่อ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ทำให้เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าสนามเลือกตั้งในสุโขทัยจะดุเดือดขนาดไหน เพราะไม่ใช่เขาคนเดียวที่เป็นเจ้าถิ่น เพราะมี ‘บ้านใหญ่สวรรคโลก’ อย่างตระกูล ‘ลิมปะพันธุ์’ ที่ขวางแลนด์ไลด์อยู่ โดยมี สมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่เป็น ส.ส.ภูมิใจไทยในปัจจุบันและเป็นมาแล้ว 3 สมัย ถึงกระนั้น ยังมีตระกูลดัง ‘ทองปากน้ำ’ ที่อยู่มานานตั้งแต่ไทยรักไทย ตรึงกำลังของเพื่อไทยไว้อย่างแน่นเหนียว ผสานกับ ‘เทพสุทิน’ ตำนานลุ่มน้ำยม
'นครราชสีมา' หรือโคราช ถือว่าเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มี ส.ส.ทั้งหมด 16 คน และยังไม่เคยมีพรรคใดกวาด ส.ส.ยกจังหวัดได้ เพราะมี ‘บ้านใหญ่’ ของหลายพรรคการเมือง ยกเว้นพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2458
การเลือกตั้งรอบปี 2562 นครราชสีมา มีเขตเลือกตั้ง 14 เขต เพื่อไทยได้ ส.ส. 4 เขต ส่วนภูมิใจไทยได้ 3 เขต และเดิมที ในการเลือกตั้งรอบหน้านี้ ภูมิใจไทยหมายมั่นปั้นมือจะ “ตอกเสาเข็มเพิ่ม” ในพื้นที่โคราช แต่อันเป็นสะดุดลง
เมื่อบิ๊กภูมิใจไทย อย่างตระกูล ‘หวังศุภกิจโกศล’ ประกาศแกรดจากโรงเรียนครูใหญ่เนวิน มาซบโรงเรียนแลนด์สไลด์ เท่านั้นยังไม่พอ ยกทีม อบจ.มาร่วมงาน ผนึกกำลังกับทีมเดิมของเลขาธิการพรรคเพื่อไทยอย่าง ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ เล่นเอาเสี่ยหนูถึงกับปวดหัวว่างานนี้ไม่หมูอย่างที่คิด สุดท้ายไปคว้าตัว ‘อดีตเพื่อนเนวิน’ เพื่อนร่วมเป็นร่วมตายก่อตั้งภูมิใจไทย อย่าง ‘บุญจง วงไตรรัตน์’ กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง หลังจากงอนออกจากภูมิใจไทย ไปอยู่พลังประชารัฐ และตั้งท่าจะกลับมาเพื่อไทย แต่ถูกสมาชิกพรรคระดับบิ๊กตั้งท่ากันเอาไว้ จนมีแรงต้านอย่างหนัก เพราะ ‘บุญจง’ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม และดักทำร้ายกลุ่มคนเสื้อแดงช่วง ‘สงกรานต์เลือด’ ปี 2552 ที่เมืองพัทยา
สนามเลือกตั้งเมืองโคราช จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง ชนิดอย่ากระพิบตากันเลยทีเดียว!
'สุรินทร์' จังหวัดที่เพื่อไทย ‘หายใจรดต้นคอ’ ค่ายครูใหญ่ แต่ภูมิใจไทยไม่เคยชนะใจคนจังหวัดนี้ยกจังหวัดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในทางกลับกัน เพื่อไทยก็ไม่เคยได้ส.ส.ยกจังหวัดเช่นกัน ในการเลือกตั้งปี 2554 และ 2562 ภูมิใจไทยยังคงยึดครองเขต 1 แม้ว่า ส.ส.เขตส่วนใหญ่ทั้ง 7 เขตจะเป็นเพื่อไทยก็ตามที
การเลือกตั้ง 2566 ศึกชนช้าง จังหวัดสุรินทร์ได้โควต้าผู้แทนฯ เพิ่มมาอีก 1 รวมเป็น 8 คน เพื่อไทยประกาศแลนด์สไลด์ ส่วนภูมิใจไทยก็ต้องการเจาะเพิ่ม หรือคาดหวังถึงกวาดยกจังหวัดแบบบุรีรัมย์
หากเช็คการวางตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ขณะนี้มีครบ 8 คนแล้ว และอีก 2 คนส่งลงปาร์ตี้ลิสต์ โดยคนที่จะลงบัญชีรายชื่อคาดว่าคือ ‘ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ’ ลูกชายเกษม รุ่งธนเกียรติ อดีต ส.ส.สุรินทร์ ซึ่งตระกูลรุ่งธนเกียรติอยู่กับพรรคมาอย่างยาวนาน อีกคนคือ ดวงฤทัย ไชยศรีษะ ลูกสาวจ่าประสิทธิ์ อดีต ส.ส.สุรินทร์ และแกนนำ นปช. ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนจากพรรคที่จะเปิดตัวผู้สมัครทั้ง 400 ภายในช่วงหลังปลายเดือนมีนาคมอีกครั้ง
สำหรับ ผู้สมัครส.ส.เขตทั้ง 8 คนของเพื่อไทยที่ต้องดอกจันทร์ตัวโตๆ เช่น เขต 1 อนันต์ ปาลีคุปต์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.สุรินทร์ พรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ายมาอยู่เพื่อไทย ลงแทนชนินทร์, เขต 3 คุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.สุรินทร์ 2 สมัย ลูกชายของสรรพกิจ ปรีชาชนะชัย อดีตส.ว.จังหวัดสุรินทร์, เขต 4 พรเทพ พูนศรีธนากูล ส.อบจ.สุรินทร์ เขตอำเภอรัตนบุรี 4 สมัย น้อยชาย เจ้าของพื้นที่เดิมคือ ‘ตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล’ ที่เพิ่งเสียชีวิต และเขต 5 ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส. สุรินทร์หลายสมัย และหากย้อนไปปี 2553 เราจะเห็นเขาบ่อยๆบนเวที นปช.
ฟากภูมิใจไทย ขุมกำลังที่ประกาจะกำชัยในสุรินทร์ครั้งนี้ ได้ ส.ส.สุรินทร์จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ายเข้ามาเสริมทัพ ทำให้ค่ายครูใหญ่ ในการเลือกตั้งรอบที่จะถึงนี้ ภูมิใจไทยหวังสูงสุดตัว แบ่งเมืองช้างเป็น 2 ท่อน นั่นหมายความว่าขอกวาด ส.ส.ถึง 4 คน จาก 8 เขต เพื่อนสกัดค่ายแดงแลนด์สไลด์ และดูเมื่อรายชื่อผู้สมัครก็ล้วนไม่ธรรมดา นับว่าเป็นคู่แข่งที่หายใจหดต้นคอเพื่อไทย อาทิ
เขต 1 ปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส. สุรินทร์หลายสมัย, เขต 2 เซี้ย สินอุดม หรือณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ อดีต ส.ส. สุรินทร์ จากพลังประชารัฐที่ย้ายมา, เขต 3 ผกามาศ เจริญพันธ์ อดีตผู้สมัครจากพลังประชารัฐที่มาสวมเสื้อภูมิใจไทย, เขต 4 ชนมณี บุตรวงษ์ ภรรยา พล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ อดีต ผอ.ททบ. 5 และอดีต ผบ.หน่วยข่าวกรองทหาร, เขต 6 ล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ ที่ปรึกษาพิเศษนายก อบจ.สุรินทร์, เขต 8 ปทิดา ตันติรัตนานนท์ อดีต ส.อบจ.สุรินทร์ อดีตผู้สมัครจากเพื่อไทย มาลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับบ้านหลังเก่า
อีกจังหวัดที่ดุเดือดคือ ศรีสะเกษ หลัง 3 ส.ส.บ้านใหญ่ลาจากเพื่อไทย นั่นคือ ธีระ ไตรสรณกุล ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของ ‘ไตรศุลี’ รองโฆษกรัฐบาลสายภูมิใจไทย, จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ และ ผ่องศรี แซ่จึง ภรรยาอดีต ส.ส.คนดัง ปวีณ แซ่จึง พากันซบบ้านหลังคาสีน้ำเงิน ร่วมทีมกับบิ๊กค่ายน้ำเงินประจำจังหวัด อย่าง ‘นายทุนไทบ้าน’ หรือ โต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
จนกระทั่งเพื่อไทยเกิดยุทธการณ์ ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ ในเดือนมิถุนายน 2565 จากนั้นเปิดทัพใหญ่ ส่งผู้สมัคร ส.ส.ชนทุกเขต ทวงคืนแลนด์สไลด์ศรีษะเกษ อาทิ ธเนศ เครือรัตน์ อดีต ส.ส.เก่าเมื่อปี 2554, นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ หรือ หมอภูมินทร์ อดีต ส.ส.เก่า เพื่อนร่วมรุ่นหมอชลน่าน, รวมถึงอมรเทพ สมหมาย อดีต ส.ส.ยุคไทยรักไทย 2 สมัย เป็นต้น
'นครพนม' จังหวัดชิลๆ ริมน้ำ แต่แท้จริงศึกเลือกตั้งในจังหวัดเดือดยิ่งกว่าหม้อไฟ เดิมทีนครพนมคือจังหวัดสีแดง เคยแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งปี 2548 ช่วงไทยรักไทย และ 2554 ช่วงเพื่อไทย และเกือบกวาดยกจังหวัด ทั้ง 4 เขต ในการเลือกตั้ง 2562 เหลือเพียงเขต 1 ที่เป็นของภูมิใจไทย
แต่ในการเลือกตั้ง 2566 ‘สหายแสง’ หรือ ‘ศุภชัย โพธิ์สุ’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคภูมิใจไทย ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเองอีกครั้ง และจะต้องชนกับ ‘มนพร เจริญศรี’ หรือแม่เดือน จากพรรคเพื่อไทย
งานนี้เรียกได้ว่า ‘ศึกครุฑยุดนาค’ ก็ว่าได้ ส่วนใครจะเป็นครุฑ ใครจะเป็นนาค ผลคะแนนเลือกตั้งออกมาคงให้คำตอบได้
หากดูตัวผู้ตัวสมัครจากทั้ง 2 พรรค ล้วนไม่ธรรมดาทั้งคู่ เริ่มเขต 1 เพื่อไทยส่ง ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ไม่ใช่ใครอื่นไกล อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ต้องชนกับ พูนสุข โพธิ์สุ หรือครูตุ่น ภรรยาของสหายแสง ดีกรีอดีตรองนายก อบจ.นครพนม สำหรับเขต 2 นั้นเป็นแชมป์ชนแชมป์ ชนกันจนแหลกไปข้าง ‘สหายแสง’ หรือศุภชัย โพธิ์สุ แกนนำคนสำคัญของโรงเรียนครูใหญ่เนวิน ประกาศลงชนกับมนพร เจริญศรี ส.ส.ปัจจุบันของเพื่อไทย ดีกรีไม่ธรรมดา นอกจากชนะเลือกตั้งถึง 2 รอบแล้ว ยังเคยทำมาหลายอย่างในพื้นที่ และเป็นมืออภิปรายของเพื่อไทย ชูปัญหายาเสพติดทุกครั้งในการอภิปราย พุ่งชนเต็มที่กับพรรคกัญชา
อีกเขตที่น่าจับตาคือเขต 3 ไพจิตร ศรีวรขาน ชื่อนี้คอการเมืองได้ยินมานาน ส.ส. 12 สมัยจากดินแดนพระธาตุพนม เป็นผู้แทนตั้งแต่ปี 2531 ยังปักหลักสู้ร่วมชายคาบ้านหลังใหญ่ แม้จะมีข่าวเป็นระยะว่าจะไป แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ โดยรอบนี้ต้องสู้กับ หมออลงกต มณีกาศ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘หมอขวัญใจคนยาก’ เป็น ส.ส.สมัยแรกเมื่อปี 2550 จากพรรคเพื่อแผ่นดิน และลงเลือกตั้ง 2566 และสวมเสื้อภูมิใจไทย หวังโค่นแชมป์เก่า 12 สมัย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะง่าย
จะเห็นได้ว่า การแข่งขันระหว่าง 2 พรรค เพื่อไทย VS ภูมิใจไทย มีความดุเดือดอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่เพื่อไทยเก่าและในพื้นที่ที่ดูดกันไปมา หรือแม้กระทั่งพื้นที่เดิมของภูมิใจไทย สุดท้ายแล้ว ต่อให้เป็นบ้านใหญ่ หรือเป็นหน้าใหม่ จะอยู่ในครอบครัวแลนด์สไลด์ หรือโรงเรียนครูใหญ่ ใครจะเป็นผู้กำชัย ใครจะได้เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ‘ประชาชน’ เท่านั้น ที่จะให้คำตอบว่าอยากให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางไหน