วันที่ 28 ก.ย. 2565 ที่ห้องประชุมภูวนาถประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เผยแพร่ผลการประเมินการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้ง อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
โดยผลการประเมินตามมาตรวัดตั้งแต่ 0-10 คะแนน โดยที่ 0 คะแนน หมายถึงไม่สนใจเลย และ 10 คะแนนหมายถึงมีความสนใจมาก พบว่า ค่าเฉลี่ยความสนใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ที่ในระดับเกินกว่า 7 คะแนน โดยการเลือกตั้งเทศบาลได้มีค่าเฉลี่ยความสนใจของประชาชนอยู่ที่ 7.96 คะแนน อบต. 7.78 คะแนน อบจ. 7.36 คะแนน พัทยา 7.29 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 6.83 คะแนน
ขณะที่ประชาชนเกือบทั้งหมดทราบถึงวันจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละประเภท ส่วนที่รู้ว่าหากมีการแจ้งเบาะแสการทุจริตอาจได้รับเงินรางวัลในการแจ้งเบาะแส มีเพียง ร้อยละ 37.6
ส่วนประชากร 70% ยืนยันว่า จะไม่เลือกผู้สมัครที่ซื้อเสียง ส่วน 30% ไม่แน่ใจ ซึ่งสะท้อนว่า การซื้อเสียงยังมีอิทธิพลจูงใจต่อประชากรกลุ่มตัวอย่างได้บางส่วน ส่วนการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนว่าการลงคะแนนเสียงจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้นพบว่า ในส่วนของ อบจ.และ อบต.ผู้ตอบค่อนข้างเห็นด้วยแต่ในส่วนของเทศบาลมากกว่า 50% ไม่ค่อยเห็นด้วย
สำหรับด้านความคาดหวังต่อผลการเลือกตั้งประชากรกลุ่มตัวอย่างในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบมองว่าจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมบ้างเล็กน้อยคิดเป็น 40% ขณะที่อีก 60% มองว่าแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม จึงเป็นการสะท้อนว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างอาจไม่ได้คาดหวังกับความเปลี่ยนแปลงมากนัก
ส่วนการร้องเรียนเรื่องการนับคะแนนของบางหน่วยที่จำนวนผู้มาลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนบัตรที่นับ การขานคะแนนไม่ตรงกับบัตร การขีดคะแนนในช่องที่ไม่ถูกต้องยังมีอยู่ นอกจากนี้ ยังพบการดำเนินงานไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ โดยเฉพาะการไม่เจาะทำลายบัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้ใช้ การไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้ใช้ และการที่หีบไม่มีการล็อคด้วยแถบซีล
ขณะที่ การกำหนดเวลาปิดลงคะแนนเสียงในเวลา 17.00 น. นั้น บางส่วนเห็นว่า กำหนดเวลาดังกล่าวนานเกินไปทำให้เกิดความลำบากต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ขณะที่ฝ่ายที่มองว่าเหมาะสมอยู่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเดินทางมาลงคะแนนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เขตเมืองที่มีปัญหาด้านการจราจร
ในแง่ของการทำงานของผู้ตรวจการเลือกตั้ง พบว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง ส่งผลทำให้วิธีคิด และการทำงานเป็นแบบตั้งรับ และมีข้อสังเกตว่าด้วยอายุที่มาก และสุขภาพของผู้ตรวจอาจส่งผลต่อการปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้การเลือก และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ที่จะมาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ซึ่งมุ่งเน้นการผูกขาดการทำงานในพื้นที่ อาจทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอให้การจัดการเลือกตั้งให้ยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในข้อเสนอแนะพบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรปรับปรุงแนวทางในการปฏิบัติงานของกรรมการประจำหน่วยให้ถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนเอกสารที่ไม่จำเป็นลง เน้นการทำงานที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาใช้สิทธิ เพิ่มการอำนวยความสะดวกกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ และประชาชนที่ต้องออกไปทำงานหรือศึกษานอกพื้นที่
ด้าน แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น จุดประสงค์เหมือนกันเพราะการบริหารจัดการทีมเดียวกันที่ต้องการให้คนไทยมีการเลือกตั้งที่ดี เพราะการเลือกตั้งเป็นของประชาชน และถ้ามองไปข้างหน้า เราต้องทำให้วันเลือกตั้งมีข้อบกพร่องน้อยที่สุดทั้งเรื่องที่เป็นปัญหา ซึ่งทาง กกต. จะต้องนำไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไข เพราะจริงๆ วันเลือกตั้งประชาชน 50-60 ล้านคน เขาเขียนชมเราอยู่แล้วถ้ามันดี อีกทั้งเรื่องคุณภาพของคะแนนที่ประชาชนลงเสียงก็สำคัญเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน
"การเลือกตั้งที่จะมาถึง เราอยากให้การเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ แต่มันต้องอาศัยความร่วมมือ ในสภาก็ดี ในถนนก็ดี เราพบกันที่หน่วยเลือกตั้งให้ทางออกของประเทศอยู่ตรงนี้" แสวง กล่าว
ขณะที่ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักใหญ่ใจความสำคัญกับการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้น ยึดโยงกับ กกต. และมีไม่กี่ประเทศที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญเข้าไปกำหนด กกต. สะท้อนว่า หลักใหญ่การปกครองประชาธิปไตยแบบผู้แทน ความสำคัญอยู่ที่ กกต. ดังนั้นจึงต้องพยายามที่จะนำเสนอ หรือสะท้อนเจตจำนงของประชาชนในการลงคะแนนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้