รายงานฉบับล่าสุดจากธนาคารโลกประจำเดือนแรกของปี 2564 ประเมินอัตราการเติบโตที่แท้จริงเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ประจำปีที่ผ่านมาติดลบ 6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะแนวโน้มการเติบโตประจำปีนี้อยู่ที่ 4% ก่อนจะขยับขึ้นไปเป็น 4.7% ในปี 2565
ทั้งนี้หนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 42% ของจีดีพีในปี 2561 ขึ้นมาเป็น 49.4% ในปีที่ผ่านมา ก่อนขยับขึ้นมาเป็น 54.4% ในปีนี้ และจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในปีหน้าที่ระดับ 55.4%
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก ชี้ประเด็นบั่นทอนสำคัญของเศรษฐกิจไทยยังคงมาจากผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 จากส่วนที่ไทยพึ่งพาอุปสงค์ภายนอก อาทิ การส่งออก และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
แม้โลกจะมีความหวังเรื่องวัคซีน แต่กระบวนการแจกจ่ายและเข้าถึงวัคซีนของประชากรทั่วโลกยังเป็นเรื่องยากลำบาก ทั้งยังอาจไม่ทั่วถึงในเวลาอันสั้น ขณะที่บางพื้นที่ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เคร่งครัดอีกครั้งเพื่อลดระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญความเสี่ยงเรื่องความไม่สงบทางการเมืองไปควบคู่กับประเด็นโรคระบาด
จากตัวเลขเศรษฐกิจข้างต้นสะท้อนออกมาเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริงง่ายๆ คือ ตัวเลขผู้ยากจน (ประชากรที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจน หรือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 165 บาท) ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นฉับพลันจากระดับ 6.2% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2562 ขึ้นมาเป็น 8.8% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในปี 2565 หรือระดับผู้อยู่ภายใต้เส้นความยากจนลดลงเพียง 0.4% จากปี 2564
เมื่อพิจารณาในเชิงตัวเลข ประชากรไทยที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนที่ลดลงมาจากระดับ 5 ล้านคนในปี 2561 ลงมาเหลือ 3.7 ล้านคนในปี 2562 ปรับพุ่งขึ้นอยู่ในระดับ 5.2 ล้านคนในปีที่ผ่านมา
นอกจากประเด็นคนจนเพิ่มขึ้น ช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงรอบแรกในไตรมาส 2/2563 ยังส่งให้มีงานหายไปจากระบบถึง 340,000 ตำแหน่ง อีกทั้งชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของแรงงานยังลดลงราว 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะไปส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของแรงงาน
ทั้งนี้ แม้อัตราการจ้างงานจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ของปีที่ผ่านมา ทว่าจุดอ่อนของแรงงานไทยยังอยู่ที่ชั่วโมงการทำงานน้อยลง อีกทั้งค่าจ้างในภาคเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562
สิ่งที่ธนาคารโลกแสดงความเป็นห่วงอย่างมากต่อตลาดแรงงานไทยคืออัตราการเติบโตในฝั่งการจ้างงานของไทยอ่อนตัวมาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดด้วยซ้ำ หากย้อนกลับไปตั้งแต่ 2556 อัตราการจ้างเงินไม่เติบโตขึ้นเลยแถมยังติดลบในบางปี ยกเว้นเฉพาะปี 2561 เท่านั้นยังไม่พองานจำนวนมากของไทยยังจัดอยู่ในกลุ่มงานคุณภาพต่ำหรือใช้ทักษะต่ำ
เมื่อมองต่อในอนาคต ตลาดแรงงานของไทยยังมีอีกปัญหาสำคัญอย่างการเข้าสู่สังคมสูงวัยรออยู่ หรือหมายความว่า ประเทศจะมีจำนวนแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้ยอลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งธนาคารโลกคาดว่าตัวเลขแรงงานในตลาดจากประมาณ 39 ล้านคนในปี 2563 จะเลื่อนลงไปอยู่แค่ราว 35 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า