เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ทนายสวมสูทดำชุมนุมประท้วงในความเงียบหน้าศาลสูงสุดฮ่องกง โดยแกนนำจัดการชุมนุมชี้ว่ามีทนายเข้าร่วมชุมนุมราว 2,500 ถึง 3,000 คน นับตั้งแต่อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีนในปี 1997 นี่เป็นการประท้วงโดยนักกฎหมายครั้งที่ 5 และยังเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย แต่ตำรวจประเมินว่ามีผู้ชุมนุมเพียง 880 คน
โดยก่อนหน้านี้มีการประท้วงใหญ่โดยประชาชนมาแล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน มีผู้จัดการชุมนุมชี้ว่ามีผู้ชุมนุม 130,000 คน แม้ว่าทางตำรวจจะระบุว่ามีผู้ชุมนุมเพียง 22,800 คน อย่างไรก็ตาม มีกำหนดการว่าจะมีการประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้งในวันที่ 9 มิถุนายนนี้
กลุ่มทนายที่เดินประท้วง นำโดยสองอดีตเนติบัณฑิตยสภา มาร์ติน หลี่ ชู่หมิง และเดนเนส ชาง
ณ หน้าทำเนียบรัฐบาล ในย่านแอดไมรัลตี เดนนิส กวอ สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ท้วงให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายดังกล่าวโดยทันที
"พวกเขาออกมาชุมนุมด้วยเหตุผลเดียว เหตุผลเดียวเท่านั้น เพราะว่าพวกเขาตระหนักถึงภัยต่อนิติธรรมของฮ่องกง เพราะหากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ จะก่อความเสียหายซึ่งไม่อาจแก้ไขได้กับระบบยุติธรรมของเรา กับหลักนิติธรรมของเรา กับคุณค่าที่เราหวงแหนรักษาไว้" กัว กล่าว
คริส แพทเทน อดีตผู้ว่าฯ ฮ่องกงคนสุดท้ายสมัยที่ยังอยู่ภายใต้อังกฤษ ก็แนะให้รัฐบาลถอนกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน โดยชี้ว่ากฎหมายนี้จะส่งผลร้ายต่อนิติธรรม เสถียรภาพ และความมั่นคงของฮ่องกอง
ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์ พูน หิว-หวิง สตรีชาวฮ่องกงวัย 20 ปี ซึ่งกำลังตั้งท้องอยู่ ถูกฆาตกรรมระหว่างไปเที่ยวไต้หวันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 โดย ชาน ถ่ง-ไก แฟนหนุ่มผู้ก่อเหตุสังหารถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงจับกุมไว้ได้ และเขารับสารภาพผิดแล้วที่ฮ่องกง ทว่าไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมได้เพราะเหตุเกิดที่ไต้หวัน
ทางไต้หวันเอง ได้ขอให้ทางฮ่องกงส่งตัวเฉินให้ แต่รัฐบาลฮ่องกงระบุว่าไม่มีกฎหมายที่เอื้อแก่การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้ไต้หวัน เนื่องจากฮ่องกงมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกับ 20 ประเทศ รวมถึง สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย แต่ไม่มีข้อตกลงใดๆ กับจีน ซึ่งนับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ โดยขณะนี้ ชานถูกจำคุกมาตั้งแต่เดือนเมษายน ในข้อหาอื่นคือมีส่วนเกี่ยวข้องในการฟ้องเงิน และจะถูกปล่อยตัวในเดือนตุลาคมปีนี้
หากร่างกฎหมายที่เป็นข้อถกเถียงนี้ผ่าน จะเป็นการอนุญาตให้ฮ่องกงส่งตัวอาชญากรหลบหนีข้ามแดน ที่ต้องโทษจำคุก 7 ปีขึ้นไป ให้ประเทศที่ร้องขอและยังไม่มีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกงอยู่ รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ โดยจะพิจารณาเป็นรายคดี
ก่อนหน้านี้ แคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้อธิบายไว้ว่าข้อเสนอกฎหมายนี้จะช่วยอุดช่องว่างทางกฎหมาย และมีเจตนาเพื่อรักษาความยุติธรรมทางกฎหมายในคดีอาชญากรรม รวมถึงปกป้องสาธารณชน มิให้ฮ่องกงเป็นแหล่งลี้ภัยของผู้ร้ายข้ามแดน
ในเดือนกุมภาพันธ์ คลอเดีย โหม่ สมาชิกสภาฮ่องกง ได้เรียกร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นเหมือนม้าโทรจัน ที่สอดแทรกเข้ามาและอาจบ่อนทำลายกำแพงที่กั้นระหว่างระบบตุลาการของฮ่องกับจีนแผ่นดินใหญ่
"เห็นชัดว่าชาวฮ่องกงไม่ไว้ใจระบบตุลาการของจีนแผ่นดินใหญ่ และเราก็กังวลว่าชาวฮ่องกง รวมถึงผู้เห็นต่างที่อาศัยในฮ่องกงอาจเผชิญกับการยัดข้อหาได้"
เจมส์ ถู สมาชิกสภาอีกรายก็เห็นด้วย โดยยกถึงกรณีกุ้ย หมินไห่ นักเขียนชาวจีนซึ่งภายหลังเปลี่ยนสัญชาติเป็นสวีเดน ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและนักการเมืองจีน ถูกอุ้มที่ประเทศไทยในปี 2015 ร่วมกับผู้ขายหนังสืออีก 4 คน ไปขึ้นศาลที่จีน หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวจะได้รับการคุ้มครองน้อยลงจากเดิม พร้อมเสริมว่าในอดีตฮ่องกงเลือกที่จะไม่ลงนามในข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับบางประเทศ เนื่องจากประวัติด้านสิทธิมนุษยชนและระบบตุลาการไม่ได้มาตรฐาน
ปลายเดือนก่อน ซง หรูอัน รองอธิบดี กระทรวงการต่างประเทศจีนประจำฮ่องกง ได้กล่าวให้ความมั่นใจกับชาวฮ่องกงว่าไม่มีอะไรต้องกลัว ทางจีนจะเคารพการตัดสินของรัฐบาลฮ่องกง
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน สมาคมกฎหมายก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลรีบเร่งเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้ และต้องการให้มีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างที่ถี่ถ้วน รวมถึงพิจารณาถึงหลักประกันต่างๆ เช่น การให้ผู้ต้องหาชาวฮ่องกงที่กระทำความผิดในต่างประเทศได้มีสิทธิโต้แย้งคำขอส่งตัว
จอห์น รีดดิง อดีตรองอัยการสูงสุด ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่าเข้าใจถึงเหตุผลของทางรัฐบาลว่าทำไมจึงเสนอร่างกฎหมายนี้ แต่ประเด็นหลักคือการพิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายนี้ จะไม่ได้รับการสนับสนุนโดยสนธิสัญญาระหว่างรัฐเพราะฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน
"จำเป็นต้องมีเครื่องยืนยันว่าประเทศที่ถูกขอให้ส่งตัวนั้นมีอำนาจในการต่อรอง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องยากหน่อย หากไม่มีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ มาสนับสนุน" รีดดิงกล่าวพร้อมยังชี้อีกว่าทางไต้หวันเองก็ยืนยันแล้วว่าจะไม่เรียกร้องให้ส่งตัวชาน ถ่ง-ไก ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมแฟนสาว แม้ว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านก็ตาม รีดดิงจึงตั้งคำถามว่ากับรัฐบาลฮ่องกงว่าทำไมจึงต้องรีบพิจารณากฎหมายฉบับนี้
ในวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน มีกำหนดการชุมนุมประท้วงโดยประชาชนอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีผู้ออกมาชุมนุมประท้วง 300,000 คน
ที่มา: Hong Kong Fp / The Guardian / The Strait Times / SCMP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: