ชาติชาย แกดำ หรือ “บอย”, ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ และ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา พร้อมทนายความได้เดินทางไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ในข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 ประมาลกฎหมายอาญา จากเหตุการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564
ในคดีนี้ มีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้งสามราย ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ โดยมี พ.ต.ท.ปรีชา วรรณหงษ์ เป็นพนักงานสอบสวนที่ออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567
นักกิจกรรมทั้ง 3 ราย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวันของตำรวจ โดยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 20 มี.ค. 2567
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวทั้งสามไว้ เนื่องจากมาพบตามหมายเรียก ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และนัดหมายมาพบอีกครั้งเพื่อส่งตัวให้อัยการในวันที่ 2 เม.ย. 2567
.
สำหรับการชุมนุมซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้ มีขึ้นในวันที่ 14 พ.ย. 2564 โดยนักกิจกรรมหลายกลุ่มนัดหมายชุมนุมอันเป็นผลมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่วินิจฉัยว่า การปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมกับข้อความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยว่า “อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์…”
การประกาศนัดหมายเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจะเดินขบวนไปยังสนามหลวง แต่เมื่อก่อนถึงเวลานัดตำรวจได้วางแนวตู้คอนเทนเนอร์ ปิดการจราจร ตั้งรั้วเหล็กตรวจค้นการเข้าสู่พื้นที่โดยรอบ ผู้ชุมนุมจึงประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังสี่แยกปทุมวัน ก่อนประกาศเดินขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนี เมื่อถึงหน้าสถานทูตเยอรมนี ผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตถึงเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุม 3 คนถูกยิงบริเวณหน้าสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนยุติการชุมนุม
หลังการชุมนุม ชาติชายและผู้ชุมนุมอีก 5 คน ถูก สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว โดยชาติชายเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 16 ก.พ. 2565 ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน
ศูนย์ทนายฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นและผ่านมาราว 2 ปี แต่ยังคงมีการดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยผลของการออกหมายเรียกนักกิจกรรมทั้งสามเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ ทำให้มีจำนวนคดี ม.112 เพิ่มเป็น 291 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดี 266 คน แล้ว
สำหรับชาติชายและฉัตรรพี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก ส่วนณวรรษนับเป็นคดีที่ 5
ที่มา : https://tlhr2014.com/archives/65144