ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คลังแจงสภาฯ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เหลือ 3.9 พันล้านบาท ยืนยันผลสัมฤทธิ์การใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ช่วยทำเศรษฐกิจฟื้น ส่งผลจีดีพีติดลบน้อยลง

วันที่ 26 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พล.ต.ต.สสุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

พล.ต.ต.สุทธิศาล ภักดีนฤนาถ

โดย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น สถานะการกู้เงิน ณ วันที่ 20 ส.ค.2564 มีการกู้ไปแล้วทั้งสิ้น 951,266 ล้านบาท เป็นเงินกู้ในประเทศ 905,761 ล้านบาท เงินกู้จากต่างประเทศ 5,505 ล้านบาท จึงมีวงเงินกู้เหลืออยู่ประมาณ 48,733 ล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการกู้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

อาคม กล่าวว่า วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ได้การทยอยเบิกจ่ายเงินกู้ไปแล้ว 873,513 ล้านบาท หรือร้อยละ 91.83 ของวงเงินกู้ทั้งหมด ส่วนอีกจำนวน 48,733 ล้านบาทที่กำลังจะกู้นั้น คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติโครงการต่างๆไว้หมดแล้ว จึงเหลือวงเงินที่จะอนุมัติได้อีกอยู่ประมาณ 3,900 ล้านบาท

อาคม กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ของการใช้จ่ายเงินกู้ว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ในการอนุมัติใช้เงินที่มีทั้งเรื่องการเยียวยาและฟื้นฟู รวมถึงการดูแลเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นการบริโภค เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเราชนะ ซึ่งแต่ละโครงการมีจำนวนคนได้รับผลประโยชน์แตกต่างกัน โดยรวมแล้วทุกโครงการครอบคลุมประชากรประมาณถึง 40 ล้านคน

ถามว่าการกู้เงินดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ไตรมาส 1 ของปี 2563 ประเทศไทยติดลบ 2% ไตรมาสที่ 2 ติดลบ 12% โดยมาตรการต่างๆอย่างน้อยก็สามารถบรรเทาผลกระทบให้ลดลงได้ จึงทำให้จีดีพีในไตรมาส 3 ติดลบน้อยลงที่ 6.4% ไตรมาสที่ 4 ติดลบ 4.2% กระทั่งมาไตรมาส 1 ปี 2564 ติดลบ 2.6% ไตรมาส 2 ปีนี้เศรษฐเติบโตขึ้นมาเป็น 7.5% มาตรการคนละครึ่ง มีส่วนทำให้การบริโภคของเราไม่ติดลบ ซึ่งมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน” รมว.คลัง กล่าว