ไม่พบผลการค้นหา
มติวุฒิสภาเสียงเอกฉันท์ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 ด้าน 'คำนูณ' ย้ำรัฐบาลห้ามหยุดปฏิรูป ให้ 5 ปีผ่านมาเป็นบทเรียน 'สมชาย' จี้สางปมทุจริต

วันที่ 30 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 27 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว และวุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ. มาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ไม่ได้

ทั้งนี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงชี้แจงหลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2566 เพื่อการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แก้ปัญหาให้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของสมาชิกฯ ที่มอบไว้ตลอดการอภิปราย รัฐบาลจะขอรับไว้ด้วยความขอบคุณ และจะนำไปปรับปรุงการทำงานของหน่วยรับงบประมาณต่อไป

กิตติ วะสีนนท์ ส.ว. อภิปรายแสดงความเห็นต่อการจัดสรรงบประมาณฯ 2566 โดยเสนอว่าท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่มีทั้งภาวะเงินเฟ้อ สถานการณ์โควิด-19 และความผันผวนของการเมืองโลก ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ธรรมชาติของการใช้งบประมาณของหน่วยงาน มักจะใช้กันอย่างคล่องตัวในเดือน ส.ค.-ก.ย. แต่ในไตรมาสสุดท้าย หรือช่วง ต.ค.-ธ.ค. จะใช้ได้ช้า จึงขอฝากให้หาหนทางเร่งการเบิกจ่าย เพราะท้ายสุดตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ คือการเร่งใช้งบตั้งแต่ไตรมาสแรกโดยเร็วที่สุด

คำนูณ -D6A7-4BC7-B783-53964A50506D.jpeg

'คำนูณ' หวั่นจบยุคปฏิรูป

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายถึงงบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ตั้งขึ้นโดยคำสั่งของหัวหน้า คสช. กำหนดไว้ว่าเป็นหน่วยงานเฉพาะกาลให้มีอายุเพียง 5 ปี เมื่อครบแล้วให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) พิจารณาว่าควรมีต่อไปหรือไม่ พนักงานของ ป.ย.ป.จึงหาได้ยากยิ่ง เพราะไม่รู้อนาคต

โดย ป.ย.ป.จะครบกำหนด 5 ปี ในปลายปีหน้า และมีแนวโน้มจะไม่ต่ออายุสำนักงานต่อไป เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเมื่อ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา มีมติว่าการปฏิรูปประเทศสัมฤทธิ์ผลแล้วทุกประการ จึงจะไม่มีการต่ออายุ พวกเราทุกคนโตมาเพื่อทำงานในยุคปฏิรูป ตั้งแต่ที่มีมาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จนถึงฉบับถาวร ทำให้ตนตกใจว่า ยุคแห่งการปฏิรูปกำลังจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่ ถ้าเห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมาปฏิรูปไม่สำเร็จ ไม่ใช่ยกเลิก

"ผมขอเสนอผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฝากกราบเรียนไปยัง ครม. และนายกรัฐมนตรี ผมเป็นห่วง เพราะอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่บทเฉพาะกาล เป็นบทถาวร จริงอยู่ที่แผนปฏิรูปให้ได้ผลภายใน 5 ปี แต่เขาไม่ได้บอกให้หยุดปฏิรูปนะครับ 5 ปี เป็นเพียงตัวอย่างบททดสอบของสัมฤทธิผลในข้างต้น" คำนูญ กล่าว

'สมชาย' ย้ำสางปมทุจริต

ในช่วงท้ายของการอภิปราย สมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายสรุปความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 โดยได้เน้นย้ำถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ยังคงมีอยู่มากในประเทศ ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจของ ป.ป.ช. ที่สะท้อนว่าปัญหานี้เป็นเหตุของการใช้งบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลต้องสะสางปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นแม้งบประมาณฯ เท่าใดก็ไม่สามารถพัฒนาประเทศได้

"ดังคำพูดที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวในน้ำเสียงประชดว่า หากประเทศไทยไม่มีคนทุจริต ถนนประเทศไทยคงปูด้วยทองคำไปแล้ว เวลานี้ก็เห็นทองคำอยู่มากมาย แต่ไปกระจุกอยู่กับนักการเมือง" สมชาย กล่าว

ที่สุด ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเสียงข้างมากเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 176 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง โดยมีผู้เข้าประชุมทั้งหมด 179 คน