วันที่ 30 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เพื่อการพิจารณาให้เกิดความรอบคอบและใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าสูงสุด ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมาธิการศึกษางบประมาณฯ ปี 2567 ได้เชิญหน่วยงานขอรับงบประมาณทั้งหมดเข้ามาชี้แจงว่า แต่ละหน่วยงานต้องการงบประมาณอะไรบ้าง ซึ่งรวมแล้วประมาณ 5.8 ล้านล้านบาท
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของแต่ละกระทรวงได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ส่วนรายละเอียดคำของบประมาณเป็นรายโครงการนั้น จะออกมาประมาณ ช่วงวันที่ 13 ธ.ค. ซึ่งกรรมาธิการจะนำมาตรวจสอบว่า คำขอดังกล่าวตรงกับที่สำนักงบประมาณอนุมัติมา 3.48 ล้านล้านบาทหรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่ได้อยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เนื่องจากรัฐบาลได้เปิดเผยแล้วว่า จะใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นแหล่งที่มาของงบดำเนินโครงการ ซึ่งยังมีความย้อนแย้งอยู่ว่า จะขัดต่อวินัยการเงินการคลัง หรือเป็นการสร้างหนี้สาธารณะหรือไม่ จึงยังต้องรอคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะคณะกรรมาธิการและประชาชน เราก็อยากได้ความชัดเจนเรื่องนี้
ณัฐพงษ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า จากการเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการ ได้พบความผิดปกติของงบประมาณอยู่หลายอย่าง เช่น ประเด็นที่เสนอโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่อง ระเบียบในการแบ่งชั้นผู้รับเหมา ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้รับเหมาชั้นพิเศษของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท มีระเบียบที่เอื้อให้เกิดการฮั้วประมูลหรือไม่
สำหรับการเตรียมความพร้อมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 ที่จะเข้าสู่วาระในช่วงเดือน ม.ค. ที่จะถึงนี้ จะนำเอาคำขอรายโครงการ 5.8 ล้านล้านบาท มาเทียบกับ 3.48 ล้านบาทที่สำนักงบประมาณอนุมัติมา เพื่อตรวจสอบว่าสำนักงบประมาณใช้หลักเกณฑ์ใดในการจัดสรรงบ ซึ่งกรรมาธิการเห็นว่าสำนักงบประมาณ ไม่ได้มีความโปร่งใสเพียงพอในการจัดสรรงบ
"ผมคิดว่าจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของ สส. ในการตั้งคำถามได้ว่า การตัดงบประมาณจาก 5.8 ล้านล้านบาท เหลือ 3.48 ล้านล้านบาท อะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ"
ณัฐพงษ์ ยังระบุว่า ร่างงบประมาณฯ ปี 2567 เป็นปีแรกที่มีการจัดทำงบล่าช้ามาครึ่งปี หลายคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน ก็ไม่เคยเห็นการจะทำงบที่ล่าช้าเช่นนี้มาก่อน เป็นผลให้งบการลงทุนต่างๆ จากภาครัฐเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ และจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เลย
"เราได้เห็นข้อถกเถียงว่าวิธีการจ่ายงบประมาณที่รัฐบาลกู้มาแจก กับวิธีที่รัฐบาลใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีมาลงทุน เราคิดว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจที่ลงไปที่โครงสร้างพื้นฐาน จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่พวกเราต้องเร่งให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ ผ่านไปด้วย" ณัฐพงษ์ กล่าว
ณัฐพงษ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการแก้หนี้นอกระบบ ที่รัฐบาลยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้หนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอยู่แล้ว แต่เห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาลอย่างมีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะขณะที่กำลังจะแก้หนี้ให้ประชาชน ในเวลาเดียวกันกำลังออก พ.ร.บ.กู้เงิน มาสร้างหนี้สาธารณะให้ประชาชนทุกคนอีก จึงเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันตั้งคำถามด้วยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
ณัฐพงษ์ ยังเผยว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2568 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาต่อจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2567 นั้น เป้าหมายของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ รวมถึงรัฐสภา คือตั้งใจจะจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2568 ซึ่งเสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ มาประกบกับร่างของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งได้แบบอย่างมาจากหลายประเทศที่ทำเรื่องนี้
ดังนั้นในช่วงปลายปีนี้ ที่จะถึงกำหนดการส่งคำของบประมาณของทุกหน่วยรับงบประมาณในช่วงกลางเดือน ม.ค. กรรมาธิการจะดำเนินการเรียกทุกหน่วยงานมาชี้แจง เหมือนที่ทำกับงบประมาณปี 2567 ซึ่งคราวนี้กรรมาธิการฯ จะมีเวลาพิจารณามากขึ้นว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ สส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน อยากเห็น จะเป็นอย่างไร