นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์ไข่ไก่ขณะนี้เกิดภาวะล้นตลาด 3-4 ล้านฟองต่อวัน จากกำลังการผลิต 41-42 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่การบริโภคอยู่ที่ 38-39 ล้านฟองต่อวัน หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคในประเทศลดลง ทำให้ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มลดต่ำกว่า 2.40 บาทต่อฟองส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งล่าสุดที่คณะกรรมการนโยบายไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเร่งแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ทั้งการผลักดันการส่งออก การบริโภคในประเทศ รวมถึงการปลดไก่ไข่ยืนกรง และงดฟักไข่เชื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์
โดยในการเร่งผลักดันส่งออกไข่ไก่จำนวน 200 ล้านฟองภายในระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตร จะเข้าช่วยสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออก คิดเป็นส่วนต่าง 50 สตางต์ต่อฟอง รวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท ในส่วนของ 100 ล้านฟองแรก ส่วน 100 ฟองที่เหลือผู้เลี้ยงจะเป็นคนรับผิดชอบ ทั้งนี้จะกระตุ้นการบริโภคในประเทศจำนวน 15 ล้านฟอง จำหน่ายราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด กระจายไปยังร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าเครือข่าย โดยคาดว่าหากสามารถกระจายได้ครบ 215 ล้านฟอง จะทำให้ราคาไข่ไก่ เบอร์ 3 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.80 บาทต่อฟอง
อย่างไรก็ตามอธิบดีกรมการค้าภายในยอมรับว่า การส่งออกไข่ไก่ในระยะแรกจะมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากประเทศผู้ค้ามีการนำเข้าไข่ไก่จากประเทศอื่นหลังจากที่ไทยห้ามอนุญาตส่งออกหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปสนับสนุนส่วนต่างเพื่อให้ตลาดกลับมาได้ปกติก่อน ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ราคาไข่ไก่จะเริ่มปรับตัวกลับมาดีขึ้น และเข้าสู่ภาวะปกติจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน
ทั้งนี้กรมการค้าภายในและกรมปศุสัตว์ ได้ตกลงร่วมกันว่าจะลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง 3 ล้านตัว เพื่อลดปริมาณผลผลิต ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการนัดหารือร่วมกับผู้เลี้ยงไก่ไข่อีกครั้ง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในวันนี้(27พ.ค.63) ส่วนจะมีการลดกำลังการผลิตไก่ไข่ที่เฉลี่ยอยู่ 41 ล้านฟองต่อวันในระยะยาวหรือไม่ ยังคงต้องประเมินสถานการณ์ความต้องการไข่ไก่แบบเดือนต่อเดือน เพราะประเมินว่าหากสถานการณ์โควิด-19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติจะไม่ทำให้ปริมาณไข่ไก่ล้นตลาด