ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการรัฐศาสตร์ชี้ผลเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 สะท้อนการเลือกของคนต่างเจเนอเรชั่น มากกว่าความต่างทางชนชั้น พรรคที่เสนอนโยบายเสริมสร้างความฝันของคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาแต่มีภูมิลำเนาในชนบท จะได้รับคะแนนเสียงมากกว่าพรรคใหญ่รุ่นเก่า

รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งรอบนี้ ที่เป็นการเลือกของคนที่ต่างเจเนอเรชั่น (รุ่น) มากกว่าจะเป็นความต่างทางชนชั้น ซึ่งเห็นชัดเจนมาก

"อย่างก่อนการเลือกตั้ง เราได้ลงพื้นที่ไปดูการหาเสียงของบางพรรคการเมืองในจังหวัดทางภาคอีสานใต้ สิ่งที่พบคือคนที่อยู่ในวัย 20-30 ปีต้นๆ ที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยในหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค และมีพื้นฐานเป็นคนในชนบท แต่คนเหล่านี้ก็นิยามตัวเองว่าเป็นคนชั้นกลาง ที่ไม่ชอบการถูกกดขี่ ไม่ชอบเผด็จการ และรู้สึกว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้คนรุ่นพ่อแม่พวกเขา แม้ไม่ได้เลวร้าย แต่ก็ไม่ได้ซื้อใจพวกเขา เช่น เรื่องเกณฑ์ทหาร เรื่องเทคโนโลยี เรื่องโอกาสการทำมาหากินในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรรคอนาคตใหม่ชูขึ้นมา แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้พูด"

ขณะที่ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอในการหาเสียงที่ผ่านมา คือการพยุงสังคมชนบทที่อิงอยู่กับเกษตรกรรม ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ พูดถึงอนาคตข้างหน้าที่สังคมเกษตรอาจจะตายก็ได้ อาจไม่รอดก็ได้ แต่จะมีอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดใหญ่เกิดขึ้นในหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศได้ 

"สิ่งเหล่านี้ เขาจะทำได้จริงหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่มันได้สร้างความฝันให้กับคนที่มีการศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากสังคมชนบท และไม่ได้ฝากชีวิตในอนาคตตัวเองไว้กับสังคมชนบท" 

เวียงรัฐ เนติโพธิ์
  • รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม มองว่า การเลือกตั้งรอบนี้ มีความแตกต่างของเจเนอเรชั่น แต่ไม่ใช่ความแตกต่างที่ขัดแย้งกัน

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐก็รู้ตรงนี้ เขาจึงเสนอนโยบายที่จับกลุ่มคนสูงอายุที่ไม่มีสมาร์ตโฟนใช้ ซึ่งก็น่าจะเป็นคนวัยประมาณ 70 ปีขึ้นไป คนเหล่านี้คือคนที่ได้เบี้ยยังชีพคนชรา และเลี้ยงหลาน แล้วไม่ค่อยตื่นตัวทางการเมือง และสามารถถูกจูงใจด้วยบัตรคนจน เบี้ยยังชีพคนชรา รวมถึงการเมืองของความสงบ คนเหล่านี้อาจจะเลือกพรรคพลังประชารัฐ และเป็นคนละกลุ่มของคนวัย 60 หรือ 70 ปีขึ้นไปที่มีสมาร์ตโฟน ซึ่งในปัจจุบันอุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้แพง ไม่ได้อยู่กับเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ แต่อยู่ที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร 

ส่วนคนที่เลือกเพื่อไทยคือคนที่ยังเหนียวแน่นกับการต่อสู้ และเขาก็อยู่มานานพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ในช่วงก่อนจะมีพรรคไทยรักไทยเป็นต้นมา ซึ่งเขารู้ว่าเขาได้อะไร ดังนั้น เขาจึงฝันเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดเหมือนสมัยต้นไทยรักไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในชนบทภาคเหนือภาคอีสาน ซึ่งในทางกลับกันเอง พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่กับคนเจเนอเรชั่นเก่า เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ มีตำนานของตัวเอง มีนักการเมืองดังๆ เช่น ชวน หลีกภัย สุรินทร์ มาศดิตถ์ ที่มีความสามารถในการปราศรัย ที่พูดจากใจ ชูประชาธิปไตย กินใจคนรุ่นเก่า เป็นอัตลักษณ์ของพรรคชัดเจน ที่เปลี่ยนยากแล้ว และคนเหล่านี้ก็รู้ว่าไม่มีอะไรใหม่ ชีวิตของเขาไม่ได้เปลี่ยนด้วยพรรคการเมือง เขาก็อยู่ของเขาต่อไปได้ คนเหล่านี้จึงยังเลือกพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีคนอีกรุ่นหนึ่งที่ไม่ได้อิงกับนักการเมืองรุ่นเก่าของประชาธิปัตย์ และก็สนใจทางเลือกใหม่ ๆ แต่ด้วยกระแสความไม่ชอบทักษิณในพื้นที่ ดังนั้นเขาก็ต้องมองทางเลือกใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก็คาดว่าพรรคอนาคตใหม่น่าจะได้เสียงจากคนในเมืองและคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคใต้  

"การเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเจเนอเรชั่น ซึ่งไม่ใช่จากกระแสโซเชียลมีเดียของพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น แต่เป็นเพราะข้อเสนอของพรรคนี้ รวมถึงภูมิทัศน์ทางการศึกษาของสังคมที่มันเปลี่ยนไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการสร้างโอกาสในการทำงานในพื้นที่บ้านเกิด ซึ่งไปเสริมสร้างความฝันของคนมีการศึกษาที่เติบโตมาในสังคมชนบท" ผศ.เวียงรัฐ กล่าว