ไม่พบผลการค้นหา
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างยาวนาน เลบานอนต้องผ่านสงครามกลางเมืองที่สร้างความเสียหาย ความขัดแย้งกับอิสราเอล การต่อสู้ภายในระหว่างกลุ่มติดอาวุธ และสงครามที่ลุกลาามจากสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสปาเลสไตน์เปิดฉากปฏิบัติการต่อต้านอิสราเอลอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทวีวความกังวลของประชาชนในเลบานอนว่า สงครามในอิสราเอลกับฉนวนกาซาครั้งนี้ อาจลุกลามเข้ามายังเลบานอนได้

เลบานอนเป็นประเทศเล็กที่มีประชากรเพียง 6 ล้านคน และกำลังประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือในขณะนี้ เลบานอนกำลังตกอยู่ในจุดต่ำสุดของความขัดแย้ง ภายหลังความรุนแรงข้ามพรมแดนกับอิสราเอลที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 ต.ค.) ตามคำแถลงจากองค์กรฮิซบุลเลาะห์ระบุว่า มีการยิงจรวดของอิสราเอลซึ่งสังหารสมาชิก 3 คนของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน ที่เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน นอกจากนี้ มีรองผู้บัญชาการของกองทัพอิสราเอล 1 นาย และนักรบชาวปาเลสไตน์ 2 คนทางตอนใต้ของเลบานอน ได้ถูกสังหารเช่นเดียวกัน 

หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้น (10 ต.ค.) กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ได้ยิงขีปนาวุธนำวิถีใส่ยานพาหนะทางทหารอิสราเอล ก่อนที่อิสราเอลจะตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีเสาสังเกตการณ์ของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ ซึ่งเป็นเสาสังเกตการณ์ของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะฮ์ ทั้งนี้ ความรุนแรงดังกล่าวทวีความเลวร้ายยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชาวเลบานอนหลายร้อยคนต้องหลบอยู่ในบ้านของตัวเอง หรือหลบหนีไปยังชานเมืองทางตอนใต้ของกรุงเบรุต

ก่อนหน้านี้ในช่วงฤดูร้อนปี 2549 กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ได้จับกุมทหารอิสราเอล 2 นาย โดยมีเป้าหมายที่จะทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษกับอิสราเอล อย่างไรก็ดี อิสราเอลตอบโต้ด้วยการวางระเบิดบ้านของ ฮัสซัน นัสรุลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ จนก่อให้เกิดสงครามที่กินเวลานาน 34 วัน

ความขัดแย้งดังกล่าวจบลงด้วยทางตัน และเกิดความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์ในจำนวนสูงลิ่ว ทั้งนี้ มีชาวเลบานอนประมาณ 1,100 คน และชาวอิสราเอล 165 คนถูกสังหาร สงครามดังกล่าวทำให้ฮิซบุลเลาะห์มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอาหรับ เนื่องจากชาวมุสลิมได้ร่วมกันเฉลิมฉลองความสามารถในการต้านทานการโจมตีของอิสราเอลในรูปแบบเต็มกำลังของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์

อย่างไรก็ดี เลบานอนประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงมานานหลายปี ส่งผลให้ประชากรเลบานอนประมาณ 80% มีคุณภาพชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ประชาชนเลบานอนหลายคนต่างกังวลว่า ประเทศของพวกเขาจะไม่สามารถฟื้นตัวจากสงครามเต็มรูปแบบกับอิสราเอลอีกครั้งได้

ภายหลังการทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐานของเลบานอนในสงครามปี 2549 รัฐอ่าวเปอร์เซียหลายแห่งได้บริจาคเงินจำนวนมากเพื่อซ่อมแซมประเทศ ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียให้คำมั่นว่าจะมอบชุดความช่วยเหลือจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท) และโอนเงินฝาก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.6 หมื่นล้านบาท) เข้าธนาคารกลางของเลบานอน แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวถูกยกเลิกลง เนื่องจากซาอุดีอาระเบียไม่พอใจความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มฮิซบุลเลาะห์กับอิหร่าน

ความคับข้องใจกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเลบานอน ส่งผลให้ชาวเลบานอนบางคนคิดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะไม่เลวร้ายลงไปมากกว่านี้อีกแล้ว โดยในปี 2564 ธนาคารโลกจัดให้การหดตัวทางเศรษฐกิจของเลบานอน เป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 

นอกจากนี้ ในเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า "ผลประโยชน์ส่วนรวม" ตกอยู่เบื้องหลังชนชั้นนำทางการเมืองของเลบานอน ซึ่งมีแนวนโยบายต่อต้านการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้ ตั้งแต่ปี 2562 สกุลเงินของเลบานอนสูญเสียมูลค่าไปประมาณ 98% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปรับหดตัวลงกว่า 40% ส่งผลให้ความกังวลที่ว่า สงครามกาซา-อิสราเอลในครั้งนี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจลุกลามเข้ามายังเลบานอน จะยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชนในประเทศเลบานอนให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมหลายเท่าตัว


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/10/10/fears-of-war-with-israel-growing-in-lebanon?fbclid=IwAR0CdM5kFuIuIHZSoTZiF-61t6aYlUgtPv6ykYsbFRFmVaecT3V7yvQlWlM