นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการว่างงาน การขาดแคลนแรงงานและการพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นภารกิจหลักของกระทรวงแรงงาน
โดยทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการช่วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ในส่วนที่รับผิดชอบให้กำกับดูแลด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานนั้น ได้สั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ปรับแผนงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีการบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรับฟังและหาแนวทางร่วมกัน โดยเฉพาะความต้องการของสถานประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการรับคนเข้าทำงาน และทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพื่อให้ กพร.ดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานดังกล่าวให้ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า แรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างกลายไปเป็นแรงงานนอกระบบจำนวนหลายแสนคน แรงงานกลุ่มนี้ขาดทักษะในการประกอบอาชีพอิสระ เนื่องจากเป็นแรงงานในระบบมาโดยตลอด เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ต้องพัฒนาทักษะฝีมือและเพิ่มศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น ดังนั้นในระหว่างมองหางานทำ ยังว่างงาน สามารถเข้ารับการพัฒนาทักษะกับ กพร.ก่อน เพื่อให้มีทักษะ ความรู้ความสามารถที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานทำได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีหลักสูตรการฝึกหลายด้าน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ และหลักสูตรด้านช่างฝีมือ รวมถึงทักษะด้านภาษา พร้อมกับประสานกับกรมการจัดหางานในการหาตำแหน่งงานว่าง แจ้งข่าวสารให้กับผู้เข้าอบรมทราบ
อีกด้านหนึ่งที่ดำเนินการคือ การหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกบอรม แล้วนำความรู้ไปประกอบอาชีพ แต่ขาดแหล่งเงินทุน ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารออมสิน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพอีกด้วย
การหารือในครั้งนี้ ประกอบด้วย ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา รมช.แรงงาน คณะที่ปรึกษาด้านวิชาการ ได้แก่ บุษกร วัชรศรีโรจน์ มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สมบัติ กุสุมาวลี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ สมชาย นำประเสริฐชัย ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์/อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านหารพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแรงงาน และเป็นอนุกรรมการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (กพร.ปช.) และกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
ธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กพร.เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจด้านการพัฒนาทักษะฝีมือ จึงมีหลักสูตรการฝึกที่หลากหลาย สามารถยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ได้ ซึ่งมีหลักสูตรการฝึกอบรมมากกว่า 1,000 หลักสูตร ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพอิสระได้ เช่น ผู้ประกอบอาหารไทย การทำขนม การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุ ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม เมื่อมีความรู้ในแต่ละด้านแล้ว กพร.ยังต่อยอดมีหลักสูตร การบริหารจัดการตลาดออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการ บนเพจเฟซบุ๊กอีกด้วย
โดยในปี 2564 มีแผนพัฒนากำลังแรงงานกว่า 100,000 คน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการพัฒนาทักษะแก่ลูกจ้างของตนเองอีกกว่า 3 ล้านคน ผู้สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: