นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 68 (9) ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 จะต้องจัดทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกนั้น
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2562 เรื่อง ให้ใช้แบบ และข้อความกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (สำหรับการทำเหมืองแร่) และอัตราเบี้ยประกันภัย ซึ่งถือเป็นแบบกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับการทำเหมืองแร่ฉบับแรกของประเทศไทย
สำหรับการทำเหมืองแร่ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ทั้งนี้ ผู้ถือประทานบัตรจะต้องจัดทำประกันภัยให้มีระยะเวลาครอบคลุมต่อเนื่องตลอดอายุประทานบัตร โดยให้มีจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อครั้งสำหรับการเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงหรือค่ารักษา พยาบาล และความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ได้รับความเสียหายดังนี้
1. การทําเหมืองประเภทที่ 2 ให้จัดทําประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ในวงเงินไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ยกเว้นการทําเหมืองประเภทที่ 2 ที่มีชนิดแร่เดียวกับเหมืองประเภทที่ 1 แต่มีเนื้อที่เกินหนึ่งร้อยไร่ และแร่หินประดับชนิดหินทราย ให้จัดทําประกันภัยในวงเงินไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
2. การทำเหมืองประเภทที่ 3 ได้แก่ (1) ประเภทเหมืองแร่ในทะเล เหมืองแร่ถ่านหิน เหมืองแร่กัมมันตภาพรังสี กลุ่มเหมืองหินอุตสาหกรรมที่นําผลผลิตไปใช้ในการผลิตซีเมนต์เป็นหลัก หรือเหมืองแร่โลหะที่ต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สําหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) ให้จัดทําประกันภัยในวงเงินไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
(2) เหมืองแร่ใต้ดิน ให้จัดทําประกันภัยในวงเงินไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
(3) เหมืองชนิดแร่ทองคํา ให้จัดทําประกันภัยในวงเงินประกันไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท และ (4) การทําเหมืองประเภทที่ 3 ที่นอกเหนือจาก (1) - (3) ให้จัดทําประกันภัยในวงเงินประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับการทำเหมืองแร่จะคุ้มครองความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย การบาดเจ็บ หรือเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายซึ่งเกิดจากการประกอบธุรกิจและเกิดขึ้นภายในสถานประกอบการที่เอาประกันภัย ภายใต้ขอบเขตของการเสี่ยงภัย ในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย ณ อาณาเขตความคุ้มครองซึ่งระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อัตราเบี้ยประกันภัย เป็นแบบช่วงขั้นต่ำ–ขั้นสูง โดยรายปีอยู่ในช่วงร้อยละ 0.01 – 5.00 ของจำนวนเงินจำกัดความรับผิดหรือของค่าจ้างหรือของยอดรายได้แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบริษัทประกันภัยยื่นความประสงค์ขอความเห็นชอบจากนายทะเบียนเพื่อใช้แบบ และข้อความกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (สำหรับการทำเหมืองแร่) และอัตราเบี้ยประกันภัย แล้วกว่า 25 บริษัท