ไม่พบผลการค้นหา
เจโทรเผยโครงการนำร่องเชื่อมโยงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น-อาเซียน เดินหน้าในประเทศไทย 8 โครงการจากทั่วอาเซียน 18 โครงการ ดันบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมญี่ปุ่นร่วมงานไทย ยกระดับอุตสาหกรรมใหม่ ประธานเจโทรย้ำความพร้อมด้านทักษะแรงงาน -กฎหมายไทย คือปัจจัยสำคัญดันอุตสาหกรรมใหม่เติบโต

ไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่ยืนอยู่บนอุตสาหกรรมใช้แรงงานค่าแรงต่ำ เป็นประเทศที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

ขณะที่ รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญของการเข้ามาร่วมลงทุน "เชื่อมโยงอุตสาหกรรม” หรือ "Connected Industry” โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทในประเทศญี่ปุ่นและอาเซียนเพื่อสร้างธุรกิจหรือการประกอบธุรกิจแบบใหม่ในสาขาต่างๆ อาทิ ดิจิทัล การดูแลสุขภาพ อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ หรือ IoT และ การให้บริการเพื่อช่วยพัฒนา ตรวจสอบ และประเมินวิเคราะห์สินค้าและการให้บริการ

เจโทร

นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโครงการความร่วมมือนำร่องระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเพื่อบ่มเพาะอุตสาหกรรมใหม่ (Thailand-Japan joint project for nurturing new industries) ใน 8 โครงการนำร่องในประเทศไทย จากทั้งหมด 18 โครงการทั่วอาเซียน ได้แก่

  • โครงการระบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation) สำหรับการใช้ผลิตหุ่นยนต์ โดยบริษัท เดนโซ (Denso Corporation) ซึ่งจะนำองค์ความรู้จากการใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตมาถ่ายทอดให้บริษัทในประเทศไทย
  • โครงการดูแลสุขภาพสำหรับคนไทย ในการตรวจเลือดด้วยตนเอง โดยบริษัท ฟูจิฟิล์ม (FUJIFILM Corporation) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ทางด้านการแพทย์และเป็นการส่งเสริมการลดโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
  • โครงการธุรกิจเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) โดยบริษัท ฟูจิฟิล์ม (FUJIFILM Corporation) ซึ่งเป็นการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์เช่นเดียวกัน สำหรับโครงการนี้ บริษัท ฟูจิฟิล์ม ร่วมมือกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์
  • โครงการให้บริการระบบใช้โรงงานร่วม หรือ Shared Factory ในประเทศไทย โดยบริษัทฮิตาชิ ไฮ เทคโนโลยี (Hitachi High-Technology Corporation) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้วิสาหกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง (SMEs) ในประเทศญี่ปุ่นที่อยากมาลงทุนในประเทศไทยประหยัดต้นทุนด้านการสร้างโรงงาน
  • โครงการควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้ระบบ IoT โดยบริษัท ไอไอเจ (Internet Initiative Japan Inc.) เพื่อเข้าควบคุมดูแลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพมากขึ้น
  • โครงการสร้างระบบซัพพลายเชนแบบสมาร์ทระหว่างประเทศโดยใช้อุตสาหกรรมเชื่อมโยงข้ามพรมแดน โดยบริษัท โคจิมา (Kojima Industires Corporation) เพื่อเข้ามาช่วยควบคุมจากทางไกล เช่นการควบคุมการดำเนินงานในโรงงานไทยจากประเทศญี่ปุ่น
  • โครงการระบบแนะนำเส้นทางขั้นสูง โดยบริษัท โตโยต้า (Toyota Tsusho Corporation) ซึ่งจะสามารถแนะนำการเดินทางได้มีศักยภาพกว่าระบบนำทางในปัจจุบัน โดยสามารถแนะนำได้ว่าควรขับรถในเลนไหน เพื่อบรรเทาการจราจรที่ติดขัด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • โครงการระบบติดตามแลลเรียลไทม์สำหรับสินค้าผ่านแดนอาเซียน โดยบริษัท เอ็นเอ็นที (NNT Data Corporation) ที่มีความต้องการในการสร้างความสะดวกสบายในด้านเอกสารรวมถึงระบบการติดตามสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีศักยภาพในการกลายเป็นศูนย์กลางด้านการกระจายสินค้าในอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (ลาว เขมร เวียดนาม เมียนมา)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก 8 โครงการนำร่องดังกล่าวตามแผนเดิมต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 แต่ด้วยอุปสรรคและข้อติดขัดด้านกฎหมาย จึงทำให้เลื่อนมาเป็นปีนี้

นายฮิโรคิ กล่าวว่า ปัญหาที่พบมีตั้งแต่ด้านเทคนิค ปัจจัยภายนอก กฎหมาย ที่ไม่เอื้ออำนวย แต่การพบกับความยากลำบากและปัญหาต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะนำไปสู่การพัฒนา

"เช่นในหัวข้อ Regenerative Medicine หรือเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม ยังมีกฏหมายที่ไม่สอดคล้องตอบรับกับการทำธุรกิจตรงนี้ ต้องมีการทำกฏหมายใหม่เพื่อตอบรับธุรกิจการแพทย์ประเภทนี้ ญี่ปุ่นเองก็เคยเผชิญหน้ากับปัญหาแบบนี้มาก่อนเช่นเดียวกัน" นายฮิโรคิ กล่าว


Referendum_07.jpg

ประธานเจโทร กรุงเทพฯ ยังกล่าวด้วยว่า จากความร่วมมือและความพยายามในการผลักดันให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยในอุตสาหกรรมใหม่ น่าจะส่งผลให้เกิดความสบายใจเล็กน้อยในแง่เศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ในอุตสาหกรรมใหม่คือทักษะและความพร้อมของแรงงานไทย คำถามสำคัญที่รัฐต้องหาคำตอบให้ได้มีแค่ต้องแก้กฏหมายตัวไหนบ้างให้ดึงดูดนักลงทุนและเอื้อต่อการลงทุนรวมถึงต้องพัฒนาทักษะแรงงานอย่างไรบ้าง

ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2562 ท้ายที่สุดแล้วก็อยู่ที่ประชาชนจะเลือกใครเป็นคนเข้ามาสานต่อเศรษฐกิจของประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้

ภาพปกจาก Photo by Andy Kelly on Unsplash