ไม่พบผลการค้นหา
ไม่พลิกโผ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันปี 2563 แบ่งออกเป็น 10 กลุ่มจังหวัด ขึ้นอีก 5-6 บาท มาอยู่ในช่วง 313-336 บาท/วัน ฟากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.6 ดันต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.3 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ฉุดจีดีพีร้อยละ 0.01

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 20 มีมติกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ปี 2563 โดยเชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่่ำรายวันจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 

ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ปี 2563 แบ่งออกเป็น 10 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ 

1.อัตราค่าจ้าง 336 บาท 2 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต 

2.อัตราค่าจ้าง 335 บาท 1 จังหวัด คือ ระยอง 

3.อัตราค่าจ้าง 331 บาท 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร 

4.อัตราค่าจ้าง 330 บาท 1 จังหวัด ฉะเชิงเทรา 

5.อัตราค่าจ้าง 325 บาท 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฏร์ธานี หนองคาย อุบลราชธานี 

6.อัตราค่าจ้าง 324 บาท 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี 

7.อัตราค่าจ้าง 323 บาท 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร สมุทรสงคราม 

8.อัตราค่าจ้าง 320 บาท 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บุรีรัมย์ ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ 

9.อัตราค่าจ้าง 315 บาท 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สิงห์บุรี สุโขทัย อุทัยธานี อำนาจเจริญ 

10.อัตราค่าจ้าง 313 บาท 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา 

เศรษฐกิจ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง 'ค่าจ้างขั้นต่ำปี’63 ปรับขึ้น 5-6 บาท ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ความท้าทายต่อ SMEs ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว' ระบุว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 20 มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 ให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปี 2563 อีก 5-6 บาท มาอยู่ในช่วง 313-336 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 321.09 บาทต่อวัน) จากอัตรา 308-330 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน) ในช่วงปี 2561-2562 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากปี 2562

โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากครั้งก่อนหน้า เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนสูตรวิธีการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในรูปแบบใหม่ ทำให้มีการปรับขึ้นทุกจังหวัดในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยมี 9 จังหวัดที่ได้ปรับขึ้น 6 บาทต่อวัน ซึ่งได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ภูเก็ต ชลบุรี ปราจีนบุรี และอีก 68 จังหวัดที่เหลือปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน 

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบไม่เท่ากันตามแต่ละพื้นที่จังหวัดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำทั้งหมด 10 อัตราตามแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด คือ ชลบุรีและภูเก็ต ขณะที่จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำต่ำสุด คือ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ โดยค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงาน 2 กลุ่มจังหวัดนี้แตกต่างกัน 23 บาทต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ที่มีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ GDP ดังต่อไปนี้

ผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการในปี 2563: การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ สูงขึ้นในอัตราที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) และพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือ หรือลูกจ้างชั่วคราว/ลูกจ้างรายวันที่อ้างอิงตามการจ่ายค่าแรงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น ลูกจ้างในภาคเกษตรกรรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก/ร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเป็นหลักในการผลิตสินค้าและบริการ

โดยจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2560 พบว่า สถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) มีการจ้างแรงงานในระบบ (รวมแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว) คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 82 ของจำนวนลูกจ้างเอกชนทั้งหมด อีกทั้งมีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ทั้งหมดอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 80 จึงทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าสถานประกอบการขนาดใหญ่ 

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ต่อต้นทุนรวมของสถานประกอบการขนาดต่างๆ ว่า หากค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นร้อยละ 1.6 จะทำให้ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในปี 2563

ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563: โดยทั่วไปแล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ การส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค และกำลังซื้อส่วนเพิ่มของผู้บริโภคจากรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ยังอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกราวร้อยละ 0.05 จากประมาณการพื้นฐาน โดยผลที่จำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงขึ้นกับร้านค้าอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) การชะลอตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้การส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าในแต่ละประเภทของผู้บริโภค รวมไปถึงการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ที่ร้อยละ 0.7 โดยรวมผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ไว้ด้วยแล้ว

ผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563: การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจ กล่าวคือ การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ (ผลทางบวกต่อ GDP) ในขณะเดียวกัน การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นต้นทุนทางด้านแรงงานของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางส่วนก็สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคผ่านระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วนผู้ประกอบการต้องรับภาระไว้เอง ซึ่งในบางรายจะเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการดำเนินธุรกิจ (ผลทางลบต่อ GDP) 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 1.6 จะส่งผลสุทธิทางลบประมาณร้อยละ 0.01 ต่อจีดีพีไทยในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง ซึ่งอาจจะกระทบขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาผู้ประกอบการ SMEs

อย่างไรก็ดี แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 อีก 5-6 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบในระดับมหภาคอย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่หากพิจารณาในระดับจุลภาคแล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง ก่อสร้าง และภาคเกษตรกรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :