ไม่พบผลการค้นหา
ทางการจีนแถลงโจมตีแคนาดา จับกุมผู้บริหารหัวเว่ยตามคำร้องของสหรัฐฯ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่เปิดเผยที่คุมตัวต่อผู้เกี่ยวข้อง เข้าข่ายละเมิดสิทธิ ขณะที่สหรัฐฯ อ้างเหตุผลจับกุมเพราะหัวเว่ย ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านก่อน

เมิ่งหว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ CFO ของเครือบริษัทหัวเว่ย ถูกจับกุมและควบคุมตัวขณะเดินทางไปเปลี่ยนเครื่องบินที่สนามบินแวนคูเวอร์ในประเทศแคนาดาเมื่อวันเสาร์ที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่หัวเว่ยออกแถลงการณ์ลงวันที่ 6 ธ.ค.ระบุว่า ทางบริษัทไม่ได้รับข้อมูลชี้แจงเหตุผลในการจับกุมที่ชัดเจนจากทางการแคนาดา ทั้งยังไม่พบเบาะแสหรือหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าเมิ่งหว่านโจวกระทำความผิดใดๆ 

ขณะที่เว็บไซต์ฟอร์บส์รายงานว่า เมิ่งหว่านโจว ดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารบริษัท ควบคู่กับตำแหน่งซีเอฟโอ ทั้งยังเป็นทายาทของเหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย แต่การจับกุมเมิ่งหว่านโจวในครั้งนี้คาดว่าเกิดจากข้อเรียกร้องของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีต่อแคนาดา ซึ่งกล่าวหาว่าหัวเว่ยละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

อย่างไรก็ตาม ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์รายงานอ้างอิงคำแถลงของเกิงช่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำแคนาดา ซึ่งประณามการจับกุมเมิ่งหวานโจวที่แวนคูเวอร์ โดยยำว่าการปิดบังข้อมูลสถานที่ควบคุมตัวเมิ่งให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ และแคนาดาแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยการปล่อยตัวเมิ่งหว่านโจวให้ได้รับอิสรภาพโดยทันที แต่มีรายงานว่าเมิ่งจะต้องขึ้นศาลแคนาดาในวันที่ 7 ธ.ค. เพื่อฟังคำตัดสินว่าเธอจะถูกส่งตัวไปยังสหรัฐ หรือไม่

ส่วนหนังสือพิมพ์โกลบัลไทม์ส สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน เผยแพร่บทความโจมตีการจับกุมเมิ่งหว่านโจวที่แคนาดา โดยระบุว่าซีเอฟโอของหัวเว่ยถูกจับเป็นตัวประกันในสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพราะการจับกุมเมิ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ตัวแทนของทั้งสองรัฐบาลเจรจาแนวทางผ่อนผันมาตรการตั้งกำแพงภาษี เพราะหัวเว่ยเป็นกิจการด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่สำคัญของจีน

ฟอร์บส์รายงานเพิ่มเติมว่า หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2530 กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และโครงข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา รวมเป็นเงินกว่า 92,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) 

หัวเว่ยไม่ใช่บริษัทโทรคมนาคมรายเดียวของจีนที่ตกเป็นเป้าการดำเนินคดีทางกฎหมายในสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัท ZTE คู่แข่งที่สำคัญของหัวเว่ย ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่าละเมิดมติ UNSC ที่สั่งคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือเช่นกัน ทั้งยังมีรายงานว่าหลายประเทศสั่งห้ามอุปกรณ์และเทคโนโลยีสื่อสารที่มาจากบริษัทเทคโนโลยีจีน ทั้งหัวเว่ยและ ZTE รวมเยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่สั่งตรวจสอบการทำงานของเทคโนโลยี 5G จากจีนอย่างละเอียด

ที่มา: Forbes/ Sydney Morning Herald

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: