"ฉันมีความแตกต่าง แต่ก็อยากแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ฉันสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง"
เป็นคำพูดของ 'เมลานี เซอการด์' หญิงสาวผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรม และได้รับโอกาสจากสถานีโทรทัศน์ฟรองซ์เดอซ์ (France 2) ให้ทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวช่วงพยากรณ์อากาศ ซึ่งแสดงให้โลกรับรู้ว่า ปัจจุบันผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรมหลายคนต้องการพิสูจน์ตัวเอง และแสดงให้สังคมเห็นความสามารถที่ซ่อ��อยู่
3-4 ปีที่ผ่านมา 'ดาวน์คาเฟ่' หรือคาเฟ่ที่มีพนักงานเป็นผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือ สนับสนุนให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในตัวเอง อาทิ คาเฟ่คอนเซ็ปต์น่ารักในรัฐอิลลินอยล์ สหรัฐฯ ที่เปิดให้ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมมาโชว์ฝีมือปรุงอาหาร และเป็นพนักงานเสิร์ฟ จนได้รับความนิยมชมชอบไปไม่น้อย
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการเบ่งบานของคาเฟ่ฮิปๆ เก๋ๆ ที่ผุดขึ้นในกรุงปารีส ล่าสุดเกิดคาเฟ่น้องใหม่ชื่อว่า 'ชัวเยอ' (Joyeux) ที่กำลังรอให้นักชิมทุกคนได้ไปเพลิดเพลินกับอาหารกลางวัน และอาหารค่ำ ซึ่งพิเศษสุดๆ ด้วยบรรดาพ่อครัว แม่ครัว และพนักงานเสิร์ฟหลายคนมีโครโมโซมคู่ที่ 21 มากกว่าคนปกติ
'ชัวเยอ' ในภาษาฝรั่งเศสมีหมายความว่า 'ความสุข' โดยภายในคาเฟ่เต็มไปด้วยพนักงานที่เป็นดาวน์ซินโดร ออทิสติก และความพิการทางสติปัญญาอื่นๆ ซึ่งคอยให้บริการทุกคนที่มาเยือนด้วยความเต็มใจ
เจ้าของคาเฟ่นามว่า 'ญานน์ บูกายล์ ลองเซอรัก' (Yann Bucaille Lanzerac) อายุ 48 ปี กล่าวว่า เขาวางแผนจะกระจายความสุขด้วยการเปิดสาขาใหม่อีก 4 แห่งทั่วฝรั่งเศส เพื่อให้ผู้พิการมีโอกาสทำงาน แสดงความสามารถ ขณะเดียวกันก็เป็นการหาเลี้ยงชีพ
"ผมมีความสุขมากเลยจริงๆ" พนักงานวัย 36 ปี ผู้มีอาการออทิสติกกล่าวระหว่างที่เขากำลังเคี่ยวสตูว์ถั่วชิคพี ซึ่งเป็นอาหารปลอดกลูเตน ตามมาด้วยอาหารอิตาเลียนอย่าง ออสโซบูโก (Ossobuco)
"ผมอยากทำอาหารมานานมากแล้ว และความฝันของผมก็เป็นจริงขึ้นมา แต่สิ่งที่ผมทำไม่ได้ก็แค่การใช้เครื่องล้างจาน"
ด้านมาติลด์ พนักงงานเสิร์ฟอายุ 20 ปี ซึ่งเป็นดาวน์ซินโดรมกล่าวว่า คาเฟ่ช่วยพัฒนาทักษะของเธอ ขณะเดียวกันเธอเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมจนวินาทีสุดท้ายของงานประกาศเปิดตัวครั้งใหญ่เมื่อวันพุธ (21 มี.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่ง 'บริจิตต์ มาครง' (Brigitte Macron) สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของฝรั่งเศส เดินทางมาแสดงความยินดีด้วย
"ฉันได้ทำงานในร้านอาหารแล้ว ฉันเตรียมอาหาร ฉันอยู่หน้าเคาน์เตอร์ และฉันชอบมัน ฉันได้เรียนรู้วิธีการเป็นบาริสต้า การชงกาแฟ และการบริการอาหารบนโต๊ะ" มาติลด์กล่าว
คาเฟ่ชัวเยอตั้งอยู่ในย่านโอเปรา ซึ่งเป็นยอดนิยมของเหล่านักท่องเที่ยว บรรยากาศภายในเต็มไปด้วยความสนุกสนาน โดยลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะได้รับชิ้นส่วนของบล็อกตัวต่อเลโก้ เมื่อสั่งซื้ออาหาร และเครื่องดื่มบริเวณหน้าเคาน์เตอร์ หลังจากนั้นอาหารจะทยอยออกมาจากห้องครัวบนถาดที่มีแถบสีเหมือนกับบล็อคตัวต่อ
ที่สำคัญ 'ลองเซอรัก' เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียว และเขากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คาเฟ่ชัวเยอมาจากความคิดของเขากับภรรยา เมื่อทั้งคู่ทดลองพาหนุ่มสาวคนพิการไปล่องเรือใบการกุศลที่แคว้นเบรอตาญ
"ธีโอ เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางไปกับเรา เขาเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ เขาบอกกับผมว่า กัปตัน คุณไม่มีงานให้ผมทำหรอ?"
หลังจากลองเซอรักตอบกลับไปว่า "ไม่มี" ธีโอก็แสดงความรู้สึกผิดหวัง และความผิดหวังของธีโอก็ผลักดันให้เขา "คิดถึงธุรกิจที่สามารถจ้างคนพิการได้"
เมื่อเดือน ธ.ค. คาเฟ่ชัวเยอเปิดตัวสาขาแรกในเมืองแรนส์ (Rennes) และได้รับคะแนนรีวิวบนเว็บไซต์ TripAdvisor ดีมากๆ จากนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนทางตะวันตกของฝรั่งเศส นอกจากนั้น ทางคาเฟ่ยังนำเสนออาหารมังสวิรัติ และอาหารปราศจากกลูเตน ซึ่งอนาคตวางแผนขยายสาขาไปตามมาบอร์กโดซ์ ลียง และลีลล์ เพื่อนำผลกำไรไปทำการกุศล
'โซฟี กลูเซล' (Sophie Cluzel) รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดินทางเข้าเยี่ยมชมคาเฟ่หลังจากเปิดตัวใน 'วันดาวน์ซินโดรมโลก' (World Down's syndrome Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี โดยพบกับพูดคุยผู้จัดการ 3 คน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมของพนักงานคนพิการ 20 คน
'ลอเรล แฌร์แม็ง' (Laurel Germain) นักจิตวิทยาสัญชาติฝรั่งเศสอธิบายว่า บรรดาพนักงานได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่เหมาะสมกับความสามารถของตัวเอง และเป็นความสามารถมากกว่าความพิการของพวกเขา นอกจากนั้น ชั่วโมงการทำงานยังปรับให้เข้ากับความรวดเร็วของแต่ละคน
"ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมบางคนมีความสามารถในการอ่าน เขียน และใช้คำศัพท์ได้หลากหลาย แต่บางคนก็ไม่สามารถเขียน และมีปัญหาเรื่องการแสดงออก ซึ่งสุดท้ายเคล็ดลับอยู่ตรงการหางานที่เหมาะสมให้แต่ละคนทำ" นักจิตวิทยากล่าว