ไม่พบผลการค้นหา
มูลค่าส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือน ก.พ. ขยายตัวร้อยละ 10.3 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ด้านพาณิชย์รับบาทแข็ง กดรายได้ผู้ส่งออกเมื่อแปลงเป็นเงินบาททรุดครั้งแรกรอบ 12 เดือน แนะขยายเวลาซื้อสัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพิ่มขึ้น 2 หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ 2 แบงก์คาด ปีนี้มูลค่าส่งออกเติบโตร้อยละ 4.5-5.0

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน ก.พ. 2561 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 20,365 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 643,705 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.56 ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน นับจากเดือน ก.พ. 2560 ที่ลดลงร้อยละ 5.28 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,558 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 626,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.69 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 17,474.5 ล้านบาท 

ขณะที่ ในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 40,467 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.77 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.296 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.13 การนำเข้ามีมูลค่า 39,778 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.06 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.90 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 688.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5,342 ล้านบาท

"การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. 2561 ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เพราะสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญฟื้นตัว ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องน่าเป็นห่วงคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มทำให้รายได้ของผู้ส่งออกในรูปเงินบาทลดลงแล้ว" นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

โดยในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 0.56 โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา หากยังปล่อยให้แข็งค่าไปเรื่อยๆ จะทำให้รายได้ของผู้ส่งออกลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน แม้จะยังไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยก็ตาม เพราะ ขณะนี้ ยังมีความต้องการสินค้าไทยมากขึ้น แม้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นก็ตาม   

ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ทำได้เพียงเสนอแนะให้ผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงค่าเงินให้นานขึ้น เช่น เป็น 6 เดือน จากปัจจุบันที่ทำไว้เพียง 3 เดือน เนื่องจากค่าเงินยังมีความผันผวนอยู่ อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกี่ครั้งในปีนี้ รวมถึงผู้ส่งออกไทยควรซื้อขายด้วยเงินสกุลอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงในหลายสินค้า ทั้งข้าว มันสำปะหลัง กุ้ง ฯลฯ และยังมีมาตรการกีดกันการค้าจากคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ อีก ทำให้สถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเริ่มขรุขระบ้างแล้ว ดังนั้น สนค.จึงได้ศึกษาหาตลาดใหม่ๆ ที่จะส่งออกสินค้าเหล่านี้ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมถึงจะหาสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ เช่น สินค้าเกษตรนวัตกรรม เพื่อเจาะตลาดโลกให้มากขึ้น

ธ.ไทยพาณิชย์ ชี้กลุ่มส่งออกข้าว มัน ยาง น้ำตาล อ่วมพิษบาทแข็ง

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เผยแพร่บทวิเคราะห์การส่งออกเดือน ก.พ. ระบุว่า มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ก.พ. ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นการเติบโตดีในเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญและหมวดสินค้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และพลาสติก ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตสอดคล้องกับภาคการผลิตของโลก เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ รวมถึงรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกัน ราคาส่งออกข้าวและมันสำปะหลังที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวเติบโตร้อยละ 20 และร้อยละ 14 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ราคาส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการที่หดตัว เช่น ยางพาราและน้ำตาล ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวหดตัวร้อยละ 29 และร้อยละ 24 ตามลำดับ

ด้านมูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องร้อยละ 16 จากการนำเข้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่เติบโตตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่สินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ขยายตัวร้อยละ 1.3 สะท้อนการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 5.0% ตามแนวโน้มการเติบโตของภาคการผลิตโลก ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรบางรายการที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญ สะท้อนจากดัชนี Real Effective Exchange Rate (REER) ที่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่่ผ่านมา ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ถูกทดแทนได้ง่ายอย่างสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล และยางพารา 

ส่งออก ก.พ.

นอกจากนี้ เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าอาจกระทบโดยตรงต่อกำไรในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่กล่าวข้างต้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้าน้อย จึงไม่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่ามากนัก อีกทั้งยังมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (gross profit margin) ที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายอาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหากไม่ทำการปิดความเสี่ยงด้านค่าเงิน (hedging)

สหรัฐ ฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กร้อยละ 25 กดยอดส่งออกเหล็กไทยลด 2 แสนตัน 

ขณะที่ สินค้าส่งออกไทยบางรายการอาจเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ (retaliation) จากประเทศต่างๆ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้อนุมัติมาตรการ safeguard เก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามอย่างเป็นทางการเพื่ออนุมัติให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากทุกประเทศ (safeguard) ในอัตราร้อยละ 25 เพิ่มเติมจากมาตรการภาษีทั้งหมดที่มีการเรียกเก็บอยู่ก่อนแล้วในปัจจุบัน 


"อีไอซีประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณส่งออกเหล็กของไทยไปยังสหรัฐฯ ลดลง 2 แสนตัน หรือคิดว่าเป็นร้อยละ 9 ของปริมาณเหล็กส่งออกทั้งหมดของไทย หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.1 ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด"

นอกจากนี้ อีไอซีคาดว่ามูลค่าการนำเข้าปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการส่งออกปีนี้ ร้อยละ 4.5

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้การส่งออกสินค้าไทยในช่วง 2 เดือนแรกจะขยายตัวสูงต่อเนื่อง แต่ด้วยหลายปัจจัยท้าทายที่ยังต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี 2561 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 4.5 (กรอบที่ร้อยละ 2.0-7.0) เพื่อรอประเมินภาพการค้าโลกและพลวัตรของมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ ต่อการส่งออกสินค้าไทยต่อไปอีกสักระยะ

พร้อมกับระบุว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ (เดือน เม.ย.-ธ.ค. 2561) ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องเผชิญ ได้แก่ 

1.พลวัตรของมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ หลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมตามมาตรา 232 เพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยยังต้องติดตามต่อไปว่า สหรัฐฯ จะมีการเจรจาเพื่อยกเว้นภาษีให้กับจีนและสหภาพยุโรปในการนำเข้าสินค้า 2 กลุ่มนี้หรือไม่ และถ้าหากสหรัฐฯ ยืนยันที่จะยกเว้นภาษีนำเข้าให้เพียงแค่แคนาดาและเม็กซิโก จีนและสหภาพยุโรปจะมีแนวทางการตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อย่างไร

นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนกว่า 100 รายการ มูลค่าราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเหตุผลด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) และข้อกำหนดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไปยังบริษัทจีนอย่างไม่เหมาะสม โดยสินค้านำเข้าจากจีนจะถูกเรียกเก็บภาษี ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นกลางน้ำของไทยไปยังตลาดจีน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าของจีน

ค่าเงินบาท

2. ประเด็นเรื่องการผันผวนของค่าเงินบาทจากพลวัตรของมาตรการกีดกันทางการค้า และรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะออกมาในช่วงเดือน เม.ย. 2561 นี้ รวมถึงการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2561 จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจส่งออกในการบริหารจัดการกำไรส่วนต่าง (Margin)