ไม่พบผลการค้นหา
วอชิงตันโพสต์ประเมินทิศทางการเลือกตั้งในประเทศไทยในเดือน ก.พ.2562 อาจถูกเลื่อนออกไปอีก หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณว่าอาจอยู่ในอำนาจไปอีก 20 ปี

แอนนา ไฟฟีลด์ ผู้สื่อข่าวของเดอะวอชิงตันโพสต์ สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่านับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ผลักดันให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยข้าราชการต่างๆ ที่จะวางรากฐานของรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีความพยายามที่จะส่งเสริม 'ประชาธิปไตยแบบไทย' รวมถึงนโยบายไทยนิยม

สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบไทย และรัฐธรรมนูญที่มอบอำนาจให้แก่กองทัพ ข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งในกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้มีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า จะช่วยเปิดโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอำนาจและบทบาททางการเมืองต่อไป แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต และมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งข้อบ่งชี้เหล่านี้ขัดแย้งกับคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ระบุว่า ตนไม่ได้ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปอีก 20 ปี เพราะขณะนี้ก็อายุ 60 กว่าแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นักวิชาการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น เปิดเผยกับสื่อสหรัฐฯ ว่า การเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปอีก และไม่อาจแน่ใจได้เลยว่ารัฐบาล คสช.จะรักษาสัญญาหรือไม่ หรือต่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้

ขณะที่ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าอาจจะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยมากนักหลังเลือกตั้ง แม้จะมีความพยายามก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนำโดยคนรุ่นใหม่อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารเครือไทยซัมมิท ก็ไม่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้ เพราะพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้มีนโยบายไม่แตกต่างไปจากเดิม ขณะที่หลายพรรคมีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างชัดเจน

ฐิตินันท์ระบุด้วยว่า การได้อยู่ในอำนาจทำให้คนลุ่มหลงมัวเมาได้เสมอ ยิ่งถ้าไม่มีกรอบ-กฎเกณฑ์ในการควบคุมวาระดำรงตำแหน่งอย่างชัดเจน ก็เป็นเรื่องยากที่จะก้าวลงจากอำนาจ และผู้นำรัฐบาลทหารในทุกยุคทุกสมัยต่างก็เกรงว่าจะถูกลงโทษหรือเอาผิดย้อนหลังเมื่อพ้นจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ โจชัว เคอร์ลันต์ซิก ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันนโยบายต่างประเทศในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า ปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2557 ยังคงอยู่โดยไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งก็คือ ภาวะชะลอตัวของการลงทุนและพัฒนาภายในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน การใช้อำนาจของรัฐบาล คสช.ที่สั่งควบคุมการเคลื่อนไหวของพลเรือน จำกัดการสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดกับผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: