ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2561 เกิดอุบัติเหตุ 677 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 71 ราย ผู้บาดเจ็บ 696 คน กำชับจังหวัดเข้มข้นจุดตรวจ โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมสู่ถนนสายหลัก เพิ่มการเรียกตรวจรถเพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เน้นดูแลจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน ควบคู่กับการเร่งระบายรถ โดยเปิดช่องทางพิเศษและจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณจุดตัดเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น ฝากเตือนผู้ขับขี่ไม่ขับรถเร็ว หยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ง่วงนอน ให้จอดพักรถตามจุดบริการ เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 677 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 71 ราย ผู้บาดเจ็บ 696 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 47.27 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.00 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด
ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.45 รถปิคอัพ 5.18 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.62 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.37 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 35.30 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01 – 04.00 น. ร้อยละ 27.92
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,011 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,092 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 782,166 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 138,279 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 39,875 ราย ไม่มีใบขับขี่ 38,178 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (38 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ดและกรุงเทพมหานคร (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (39 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (28 ธ.ค.60 – 1 ม.ค.61 ) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,056 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 317 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,188 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ตรัง ตาก นครนายก นราธิวาส น่าน ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (114 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ (13 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (118 คน)