แน่นอนว่า สำนักข่าวทั่วโลกล้วนยืนอยู่บนหลักการเรื่อง ‘ความน่าเชื่อถือ’ ทว่าช่วงเวลา 24 ชั่วโมงของเอพริลฟูลเดย์บรรดาผู้สื่อข่าวมักจะไม่เชื่อใจใคร หรืออะไรง่ายๆ เพราะหลายครั้งแหล่งข่าวผู้หวังดีอาจพูดจา ‘โกหกคำโต’ แล้วอ้างอะไรออกมาง่ายๆ ว่�� ‘ล้อเล่น’ เนื่องจากมันเป็นวันหยุดที่หลายประเทศต่างกำลังสนุกเฉลิมฉลองให้กับ ‘วันโกหกโลก’
ดังนั้น สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวใน ‘วันโกหกโลก’ ทุกสิ่งจึงกลายเป็นเรื่องยากจะบอกว่า ‘อะไรจริง’ และ ‘อะไรปลอม’ เพราะที่ผ่านมา บรรดาแบรนด์ดังต่างๆ มักไม่พลาดธรรมเนียมการล้อเล่นกันในวันเอพริลฟูลเดย์ ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลปลอมๆ บวกกับ ‘การแข่งขันกันโกหก’ ดูจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เช่น อิเกียเคยเล่นใหญ่ด้วยการประกาศลงเล่นในธุรกิจสายการบินโลว์คอส หรือเคเอฟซีเปิดตัวบัคเก็ตไก่ทอดอัจฉริยะสั่งงานด้วยเสียง และทวิตเตอร์เตรียมออกหมวกกันน๊อคที่ทวีตข้อความได้ทันทีที่คิด
ขณะเดียวกัน เรื่องที่ดูเหมือนไม่จริงก็กลับกลายเป็นจริงขึ้นมา เช่น เมื่อหลายปีก่อน เบอร์เกอร์คิงประเทศญี่ปุ่นปล่อยโฆษณาน้ำหอมกลิ่นปิ้งย่างออกมาขาย ซึ่งตอนแรกคนทั่วไปคิดเป็นเรื่องล้อเล่น เนื่องจากวันที่สินค้าจะวางขายตรงกับวันเอพริลฟูลเดย์ แต่ฝ่ายการตลาดของเบอร์เกอร์คิงยืนยันว่า ‘ขายจริง’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าจำกลิ่นของเบอร์เกอร์คิงได้ โดยก่อนหน้านั้นเทคนิคการตลาดลักษณะเดียวกันเคยถูกใช้กับเบอร์เกอร์คิงที่สหรัฐฯ ซึ่งสินค้าที่ออกวางจำหน่ายคือ สเปรย์ระงับกลิ่นกาย
อย่างไรก็ตาม หากพยายามมองโลกในแง่ดี ‘วันเมษาหน้าโง่’ อาจทำให้เราเห็นมุมความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์นั้นๆ แต่ทางตรงกันข้าม โจทย์ทางการตลาดแบบปลอมๆ แม้มันเป็นเพียงข้อมูลในสังคมออนไลน์ชั่วขณะหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหรือเปล่า? เพราะคงไม่มีใครอยากดูเป็นคนโง่ในสายตาคนอื่น โดยเฉพาะ ‘นักข่าวมืออาชีพ’ ที่ต้องพยายามรักษาความน่าเชื่อถือ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน
ดังนั้น เมื่อนักข่าวได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ โครงการ หรือกำหนดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งประกาศออกมาในวันที่ 1 เมษายน มันจำเป็นมากที่จะต้องตั้งข้อสงสัย หรือรู้สึกตะขิดตะขวงใจไว้ก่อนสักเล็กน้อยว่า ‘เรื่องโกหก’ ขณะเดียวกันในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี นักข่าวทุกคนก็ต้องทำงานหนักเป็น 2 เท่าในการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมา เช่นเดียวกับทางฝั่งผู้รับสารที่คุณก็ไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ ในช่วงเอพริลฟูลเดย์
นอกจากนั้น ปัจจุบันข้อมูลจำนวนมากที่ปรากฏบนสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะจากทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ของบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ มักถูกนักข่าวหยิบฉวยไปเป็นประเด็นในการประชุมกองบรรณาธิการ และบ่อยครั้งถูกนำไปขยายต่อเป็นรายงานข่าว โดยแทบจะไม่มีการตรวจสอบใดๆ
นั่นหมายความว่า หากนักข่าวที่พึ่งพิงสังคมออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลเกิดนำเสนอข่าวที่ผิดเพี้ยนออกสู่สาธารณะก็อาจส่งผลกระทบแง่ลบ และกระเทือนต่อความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือ ผู้คนบนโลกออนไลน์บางส่วนอาจหยิบยกมาเป็นเรื่องตลกขบขัน แต่ผู้คนบนโลกออนไลน์อีกเป็นจำนวนมากก็พร้อมจะตั้งคำถามกลับเรื่องจรรยาบรรณสื่อ นำไปสู่ช่วงเวลาที่เลวร้ายจริงๆ สำหรับนักข่าวทั่วโลก
สุดท้าย แม้นักข่าวบางคนจะปฏิเสธการพึ่งพิงสังคมออนไลน์ แต่ท่ามกลางจังหวะที่เรื่องราวต่างๆ บนโลกไม่พร้อมจะเป็นเรื่องจริง และนักข่าวทั่วโลกก็เริ่มมีปัญหากับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล นั่นเป็นเหตุผลให้นักข่าวที่การออกไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวในวันที่ 1 เมษายน ต้องคอยยิงคำถามย้ำเสมอๆ ว่า “คุณไม่ได้กำลังพูดโกหก หรือเห็นเราเป็นตัวตลกอยู่ใช่ไหม?” เพราะนิวฟีดส์เต็มไปด้วยเรื่องโกหกมากพอแล้ว