ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่าการชุมนุมต่อต้านบ้านพักตุลาการและเจ้าหน้าที่ศาลในพื้นที่ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

การชุมนุมของกลุ่มผู้ต่อต้านโครงการก่อสร้างข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จัดขึ้นที่บริเวณประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน โดยอ้างอิงการประเมินของแกนนำจัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจใน พื้นที่ และถือว่าเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดของภาคเหนือในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา

สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ทั้งรอยเตอร์, บีบีซี, อัลจาซีรา, เดอะการ์เดียน และเจแปนไทม์ รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีความมุ่งมั่นและพร้อมใจรวมพลังต่อต้านโดยไม่สนใจคำสั่งห้ามชุมนุมของรัฐบาล คสช. บ่งชี้ให้เห็นว่าความไม่พอใจของประชาชนไทยต่อรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มก่อตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการชุมนุมหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.จัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญา

บ้านพักตุลาการ หมู่บ้าน ป่าแหว่ง ดอยสุเทพ เชียงใหม่

กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ริบบิ้นและผ้าสีเขียวอ่อนเป็นสัญลักษณ์การชุมนุม พร้อมกำหนดเส้นตาย 7 วันหลังวันที่ 29 เม.ย. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการฯ บริเวณพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ขณะที่อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 รวมถึงประธานคนปัจจุบัน ต่างก็แสดงความเห็นคัดค้านข้อเรียกร้องให้รื้อถอนบ้านพักดังกล่าว พร้อมระบุว่าขออยู่ต่อเป็นเวลา 10 ปี

สื่อต่างประเทศระบุว่าด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้การชุมนุมที่เชียงใหม่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดโดยไม่มีการขัดจังหวะหรือจับกุมผู้ชุมนุม แตกต่างจากจากกรณีนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งซึ่งถูกจับกุมและดำเนินคดีก่อนหน้านี้หลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าการชุมนุมที่เชียงใหม่เป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และผู้จัดการชุมนุมได้ขออนุญาตล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ จึงไม่ถือว่าการชุมนุมขัดคำสั่ง คสช.

ป่าดอยสุเทพ

รัฐบาลไทย 'ขอเวลา' หาทางออกบ้านพักตุลาการ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย ยอมรับว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ปรารภในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อรองรับการเปลี่ยนนโยบายตาม ไทยแลนด์ 4.0 ให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดหาทางออกกรณีบ้านพักตุลาการ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีปัญหาว่าถูกฏหมาย แต่คนไม่ยอมรับ ซึ่งตนในฐานนะที่เป็นฝ่ายกฏหมายตอบไม่ถูกและคิดไม่ออก ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องคือเรื่องธรรมาภิบาล ที่ถูกกฏหมายและหลักนิติธรรม แต่ธรรมภิบาลคือการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส แต่สุดท้ายคนที่จะแก้ปัญหาคือรัฐบาล แต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการร้องขอให้ใช้มาตรา 44 แต่นายกรัฐมนตรี ไม่อยากใช้จะใช้เท่าที่จำเป็น เพราะหากอยู่ต่อไปไม่มีมาตรา 44 ให้ใช้จะทำอย่างไร เบื้องต้นประชาชนยอมรับว่าถูกกฏหมาย แต่ไม่ถูกต้องกับความรู้สึก ส่วนข้อเรียกร้องให้ทุบบ้านพักตุลาการ เป็นสิ่งที่จะต้องคิดให้รอบครอบ เพราะการทุบบ้านพักผิดกฏหมาย ทำลายทรัพย์ราชการ ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ชุมนุมก็ทราบในเรื่องนี้ จึงมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ทั้งคนที่ให้ทุบ กับที่ให้ทำเป็นพื้นที่สาธารณะใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ที่มา: Aljazeera/ BBC/ Japan Times/ Reuters/ The Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: