นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษก สศค.กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือระยะที่ 2 (เฟส 2) แก่ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560
โดยจะมีการตั้งทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ทีม ปรจ.) ในระดับอำเภอขึ้นมา 900 ทีม เพื่อเข้าไปวิเคราะห์ กำหนดแผนที่ชีวิต และติดตามผู้มีบัตรคนจนทั้ง 11.4 ล้านคน โดยเน้นในกลุ่มมีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี อยู่ในวัยแรงงาน 5.3 ล้านราย ให้เข้าโครงการพัฒนาฯ ตนเอง
นายพรชัย กล่าวว่า คนที่เข้าโครงการต้องเซ็นยินยอมให้กระทรวงการคลังตรวจสอบข้อมูลการเคลื่อนไหวทางบัญชีทั้งแบงก์รัฐและเอกชนในช่วงปี 2560 - 2561 เพื่อดูว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ คนที่เข้าโครงการรับวงเงินเพิ่มเติมสำหรับซื้อของร้านธงฟ้า หากรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี รับ 100 บาท/เดือนจากเดิมได้ 200 บาท รวมเป็น 300 บาท และรายได้ 3 หมื่นบาท/ปี รับ 200 บาท/เดือน จากเดิมได้อยู่ 300 บาทรวมเป็น 500 บาท ตั้งแต่เดือน มี.ค.- ธ.ค.61 ถ้าหากแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการแล้ว ไม่ยอมมาอบรมตามโปรแกรมที่วางไว้ ถูกยุติการให้เงิน และเรียกคืนเงินในส่วนที่เพิ่มให้
ส่วนในกลุ่มคนที่รายได้เกิน 3 หมื่นบาท/ปีถึง 1 แสนบาท/ปีจะเป็นภาคสมัครใจ ต้องเข้ามาแจ้งกับทีม ปรจ.จึงได้รับเงินเพิ่ม 100 บาท ส่วนกลุ่มคนที่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทจำนวน 5.3 ล้านรายนั้นหากไม่เดินมาแจ้ง ทีม ปรจ.เข้าไปหาถึงบ้าน แต่ไม่ได้บังคับเป็นภาคสมัคใจเช่นกัน คาดว่าจะสามารถช่วยคนที่รายรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/ปี ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% หรือประมาณ 1 ล้านราย ให้พ้นเส้นความยากจน 3 หมื่นบาท
ส่วน การดำเนินการครั้งนี้ใช้งบประมาณ 3.57 หมื่นล้านบาท คาดว่ามีผลต่อเศรษฐกิจ 0.06% แบ่งเป็นการเติมเงินกว่า 1.39 หมื่นล้านบาท ค่าบริหารจัดการกว่า 3 พันล้านบาท พัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตกว่า 1.88 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้หารือกับสำนักงบประมาณถึงจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว สำนักงบประมาณพร้อมจัดสรรงบเพิ่มเติมในปีงบ 2561 ให้
นายพรชัย กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบเบ็ดเสร็จ โดยมีโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการในทุกมิติรวมกว่า 34 โครงการ จากความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 13 หน่วยงาน โดยมี 6 กระทรวง 3 ธนาคาร 2 กองทุนและ 2 หน่วยงาน มาตรการมีหางานให้ทำ แฟรนไชส์สร้างอาชีพ ฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา คาดว่าสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างน้อย 4,695,407 คน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคล และจูงใจให้นายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือพิจารณาจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นกรณีพิเศษโดยให้หักรายจ่ายเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่าย โดยมีเงื่อนไขคือการจ่ายค่าจ้างต้องผ่านบัตรสวัสดิ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.62