ไม่พบผลการค้นหา
ชัยชนะของชาวบาหลีที่รวมตัวต่อต้านการสร้างเกาะเทียมในทะเล จนรัฐบาลท้องถิ่นต้องสั่งระงับไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นำไปสู่การจัดสรร 'พื้นที่สาธารณะ' ที่ไม่จำเป็นต้องเอาใจนักท่องเที่ยว

'บาหลี' เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งทำรายได้ให้กับอินโดนีเซียอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งยังเป็นสถานที่ยอดนิยมในการจัดประชุมนานาชาติหลายครั้ง โดยล่าสุด คือ การจัดประชุมระหว่างธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อวันที่ 8-14 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการจัดประชุมแต่ละครั้งช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวสำคัญที่บ่งชี้ว่าชาวบาหลีต้องการกำหนดชะตากรรมและการจัดการพื้นที่แห่งนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากชาวบ้าน นักกิจกรรม นักอนุรักษ์ รวมถึงเครือข่ายศิลปินนับร้อยคน ได้รวมตัวกันต่อต้านการต่อใบอนุญาตให้กับเครือบริษัท TWBI กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย ไม่ให้ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดิน ซึ่งจะถมที่ดินบริเวณป่าชายเลนของอ่าวเบอนัวในบาหลีเพื่อสร้างเกาะเทียม ซึ่งจะกลายเป็นที่ตั้งของศูนย์ประชุม โรงแรม สถานบันเทิงต่างๆ รวมถึงร้านอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและการจัดประชุมนานาชาติเพิ่มเติมจากบริเวณนูซาดัวที่เริ่มแออัดและการจราจรคับคั่งในช่วงที่มีการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ

FeministCarnivalinBali-งานเฟมินิสต์ที่บาหลี-ศิลปินท้องถิ่น.JPG

(ศิลปะต่อต้านสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อการทำนาขั้นบันได ถูกจัดแสดงที่หน้าทางเข้า 'จาติจากัต กัมปง ปุยซี' ซึ่งถูกจัดให้เป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนในบาหลี)

เครือข่ายผู้ต่อต้านรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางอินโดนีเซียพิจารณาทบทวนการก่อสร้างเกาะเทียมและศูนย์บันเทิงครบวงจร โดยยกเหตุผลสำคัญว่าการทำลายป่าชายเลนจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลไปมากกว่าเดิม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ ปริมาณขยะจำนวนมหาศาลที่ไม่สามารถกลบฝังหรือกำจัดได้ทันเวลา

โปสเตอร์ต่อต้านการก่อสร้างเกาะเพื่อการท่องเที่ยวในบาหลี.JPG

นอกจากนี้ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถ่ายภาพขยะพลาสติกจำนวนมากใต้ทะเลบาหลี และนำวิดีโอไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ทำให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากหลายประเทศร่วมส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียหาทางฟื้นฟูธรรมชาติใต้ทะเลบาหลี ก่อนที่ปัญหาขยะพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลและประชาชนในท้องถิ่น 

เสียงเรียกร้องที่เข้มแข็งของคนในพื้นที่ ผนวกกับการสนับสนุนขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ รวมถึงการที่บริษัท TWBI ยังไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต เพราะไม่ได้ทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นบาหลีสั่งระงับโครงการดังกล่าวไป

พื้นที่สาธารณะ-บาหลี-มุสลิม-อินโดนีเซีย.JPG

(เครือข่ายผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ของเอกชนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้)

แอนดิตา ลิสเตียรินี ผู้ประสานงานเครือข่าย APWLD ซึ่งทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า การต่อสู้ของเครือข่ายภาคประชาชนในบาหลีถือเป็นความคืบหน้าอย่างหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา นโยบายการจัดการที่ดินในบาหลีส่วนใหญ่จะคำนึงถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการรองรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

ในช่วงที่มีการประชุมเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชน นักกิจกรรม และศิลปิน ทั้งจากชุมชนท้องถิ่นในบาหลีและพื้นที่อื่นๆ ทั่วอินโดนีเซีย จึงได้มารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อสะท้อนความต้องการในการจัดการทรัพยากรและกำหนดนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยงานดังกล่าวถูกจัดขึ้นที่ 'จาติจากัต กัมปง ปุยซี' พื้นที่สาธารณะซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ RI ประจำบาหลี เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อนโยบายต่างๆ ของรัฐและเอกชน

FeministCarnivalinBali-งานเฟมินิสต์ที่บาหลี-ศิลปินท้องถิ่น-การ์ตูน.JPG

กิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงดังกล่าว มีทั้งศิลปะวิพากษ์การเมืองและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านทุนนิยมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอแห่งการรุกคืบเข้าครอบงำชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงการดูดกลืนทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีความยั่งยืน ทั้งยังมีกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาลและเอกชนร่วมสะท้อนความคิดเห็นและบอกเล่าประสบการณ์เรียกร้องสิทธิในชุมชนด้วย

แม้พื้นที่สาธารณะสำหรับการแสดงความคิดเห็นของประชาชนแห่งนี้จะมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับโรงแรมและศูนย์บริการนักท่องเที่ยวต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วบาหลี แต่การรวมตัวของประชาชนที่ใช้พื้นที่แห่งนี้สื่อสารความต้องการของตัวเอง ก็พอจะบอกได้ว่าประชาชนในบาหลี "ยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ" และการเลือกตั้งใหญ่ของอินโดนีเซียที่จะจัดขึ้นในเดือน เม.ย. 2562 ก็อาจจะช่วยให้ผู้มีสิทธิมีเสียงในเวทีการเมืองหันมารับฟังความต้องการของประชาชนเพิ่มมากขึ้น 

แต่เครือข่ายประชาชนเหล่านี้รู้ดีว่า การต่อรองหรือต่อสู้กับผู้มีอำนาจยังต้องดำเนินไปอีกหลายยก

สวัสดิการ-welfare.JPG

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: