สืบเนื่องจากรายงานข่าว 'คสช.แจ้งความจับ 7 แกนนำ-พวกชุมนุมจี้เลือกตั้ง' เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ชุมนุมเรียกร้องการจัดการเลือกตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 43 คน ในข้อหาฐานร่วมกันมั่วสุม หรือ ชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ จำนวนคนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธี อื่นใด อันมิใช้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ มิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชม โดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
โดยการตั้งข้อหาดังกล่าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบอำนาจให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่คณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ทั้งในส่วนการกระทำผิดมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมาย จากการจัดชุมนุมรวมพลคนอยากเลือกตั้งบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 10 ก.พ. ที่่ผ่านมา และความผิดฐานขัดความสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12
สำหรับรายชื่อผู้ชุมนุม 43 คน ที่ พ.อ.บุรินทร์ ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดี (ตามภาพ)
อีกด้านหนึ่ง แม้จะมีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุม แต่ในเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DRG ระบุว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.พ.) จะจัดการแถลงข่าวถึงแนวทางในการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต ทาง แฟนเพจ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ ในเวลา 10.00 น.
สมาคมทนายความฯ พร้อมช่วยกลุ่มอยากเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุถึงกรณี คสช.ได้ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งให้ดำเนินคดีกับ 7 แกนนำและ 43 ผู้ชุมนุมในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน อันเป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แต่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า การชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที่ 10 ก.พ. บริเวณถนนราชดำเนินเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.2561 ซึ่งการปราศรัยของ 7 แกนนำ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาลอันเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
ขณะเดียวกัน การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ คสช.อ้างว่าการชุมนุมของแกนนำและผู้ชุมนุมรวม 50 คน เป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนเกินกว่า 5 คนขึ้นไปจึงเป็นความผิดตามข้อ 10 ของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 นั้นเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปกป้องการรัฐประหารโดยการข่มขู่ คุกคาม มิให้มีการต่อต้านการรัฐประหาร จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ คสช.เอง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับใช้แล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญรับรอง เพราะเป็นคำสั่งที่มิได้มีขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ตามมาตรา 44 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงไม่อาจใช้บังคับใช้ได้
แถลงการณ์ดังกล่าวยังขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหยุดใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งอันเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและเพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิดโดยรัฐ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าวจนถึงที่สุด
อ่านเพิ่มเติม: