กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ "คลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ และฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย" ฉบับที่ 16 ในช่วงวันที่ 8 - 9 ส.ค. 2561 ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มไว้ด้วย โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามภาคต่าง ๆ มีดังนี้
ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออกให้ระวังคลื่นที่พัดเข้าหาฝั่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง
ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต รายงานน้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจาน ทำพิื้นที่ริมสองฝั่งน้ำใน 5 อำเภอเกิดน้ำท่วม
ด้านศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 4 แห่ง คือ
เขื่อนแก่งกระจาน
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (4.00 น.) ปริมาณน้ำ 733 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 ปริมาณน้ำไหลเข้า 24.45 ล้าน ลบ.ม./วันปริมาณน้ำระบายออกรวม 16.82 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 52 ซม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระดับน้ำ 3.54 ม. ระดับตลิ่ง 4.40 ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.50 ม. แต่ยังต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.96 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 172.3 ลบ.ม./วินาที่
อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ล้นทางระบายน้ำที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบให้มีน้ำท่วมพื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม ก่อนที่จะไหลลงทะเลต่อไป
การบริหารจัดการน้ำ เร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและในระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน จำนวน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) เตรียมพร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ
เขื่อนน้ำอูน
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 ปริมาณน้ำไหลเข้า 1.21 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 4.47 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน
ส่วนสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง ด้านการบริหารจัดการน้ำ ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.60 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน
เขื่อนวชิราลงกรณ
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,495 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ปริมาณน้ำไหลเข้า 70.01 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 40.98 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย
การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 43 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 2561 และการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
เขื่อนศรีนครินทร์
สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 15,423 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ปริมาณน้ำไหลเข้า 47.63 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 20.30 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 20 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 2561 ส่วนการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
ปภ. ประสานจังหวัดในภาคเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ พร้อมรับมือฝนตกสะสมและคลื่นลมแรง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ปริมาณน้ำท่าเพิ่มสูงขึ้น และอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 8 – 9 ส.ค. 2561 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
อีกทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้ทั่วทุกภาคมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักพื้นที่ โดยปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมแม่น้ำ และพื้นที่ลาดเชิงเขา
นอกจากนี้ คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง และคลื่นสูง 2 – 3 เมตร โดยมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอุทกภัย 46 จังหวัด
ขณะที่จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และพังงา จึงได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป