ไม่พบผลการค้นหา
ชวนเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้อนรับฤดูเหมันต์ ไปยังดินแดนมนต์สเน่ห์แห่งอีสานใต้ ที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ และพร้อมต้อนรับผู้มาเยือน

จังหวัดศรีสะเกษมีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากมายทั้งในเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม หรือประเพณี และหากพูดถึงชนกลุ่มน้อยก็มีอยู่ 4 ชนเผ่า ได้แก่ ชนเผ่าลาว ชนเผ่าเขมร ชนเผ่าส่วน และชนเผ่าเยอ ซึ่งแต่ละชนเผ่าจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป 

ยกตัวอย่างเช่น ชนเผ่าลาว ทุกวันอาทิตย์พวกเขาจะรวมกลุ่มกันมาใส่บาตร สวดมนต์ บูชาพระพุทธเจ้า ณ วัดพระธาตุสุพรรณหงส์ อีกทั้งยังรวมกลุ่นกันทำอาหารแบบพื้นบ้าน มาจำหน่ายในราคาประหยัดที่ ‘ตลาดวัฒนธรรม’ โดยมีสินค้าให้เลือกมากมายหลากหลายชนิด ไล่ไปตั้งแต่ของหวานที่หลายคนคุ้นเคยอย่างไอศรีมกะทิ ไปจนของท้องถิ่นอย่างข้าวหมาก ผ้าไหม หรือผักผลไม้ท้องถิ่น 

รณิดา เหลืองฐิติสกุล หัวหน้าสำนักงานของจังหวัดศรีสะเกษเล่าว่า เมื่อแต่ละชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ย่อมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวย่อมมีการจับจ่ายใช้สอย นอกจากรายได้ที่เข้ามาแล้ว สิ่งสำคัญคือ วัฒนธรรมประเพณีที่ยังคงอยู่

รณิดาเพิ่มเติมอีกว่า สินค้าที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายล้วนราคาย่อมเยา สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าเช่าพื้นที่ ต้นทุนจึงถูกลง และสินค้าที่วางอยู่บนแผงนั้นก็เป็นของในชุมชนที่ชาวบ้านใช้ หรือบริโภคเป็นประจำอยู่แล้ว

ศรีสะเกษ 3.jpg
  • โบสถ์บนเรือสุพรรณหงส์ ณ วัดพระธาตุสุพรรณหงส์
_MG_1216.JPG
  • ชาวบ้านออกมาทำบุญกันทุกวันอาทิตย์
ศรีสะเกษ 1.jpg
  • ชาวบ้านนำสินค้ามาขายที่ตลาดวัฒนธรรม วัดพระธาตุสุพรรณหงส์

สิ่งหนึ่งที่น่ายินดีคือ สินค้าบางประเภทของตลาดวัฒนธรรมแห่งนี้ มีความร่วมสมัยปะปนอยู่เราสังเกตเห็นว่าพวกเขาเลือกใช้ใบตอง หรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่แปรรูปจากธรรมมชาติแทนที่โฟม หรือพลาสติก เพื่อช่วยลดปริมาณขยะย่อยสลายไม่ได้ หรือใช้เวลาย่อยสลายนานในชุมชน 

นอกเหนือจากวัดพระธาตุสุพรรณ์หงส์แล้ว ในตัวเมืองศรีสะเกษยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกมากมาย อาทิ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เกาะกลางน้ำ วัดปราสาทเยอเหนือที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งผลิตสุราชุมชนของชนเผ่าเยอ ไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้ถึงวิถีทางด้านการเกษตรอย่าง สวนหอมแดงลุงละม้าย และสวนลุงบุญมี 

เมื่อผละออกจากตัวเมืองศรีสะเกษ และมุ่งหน้าลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะพบกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง ‘ผามออีแดง’ ที่สมัยก่อนเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังปราสาทพระวิหารจากฝั่งประเทศไทย ก่อนจะเกิดกรณีพิพาทในปี พ.ศ. 2551 ทว่าปัจจุบัน สถานการณ์คลี่คลายลงมามาก

ผามออีแดง คือจุดรับแสงแรกของดวงอาทิตย์ หากมาเยี่ยมชมในช่วงฤดูหนาวจะเห็นว่า ดวงอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นทางทิศตะวันออกเสียทีเดียว แต่คล้อยต่ำมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่า ‘ตะวันอ้อมข้าว’ และยังเป็นจุดที่สามารถเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจาก 3 แผ่นดินคือ ไทย กัมพูชา และลาว 

ธนา พลอินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารเล่าว่า สัมพันธภาพที่ดีระหว่างพื้นที่ของไทย และกัมพูชา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีงามต่อกัน นักท่องเที่ยวจึงสามารถเดินลงไปชมสถูปคู่ หรือประตูเหล็กที่อยู่ใกล้กับชายแดนของกัมพูชา ส่วนนักท่องเที่ยวของอีกฝั่งก็มักจะโบกมือมาที่เราเสมอ ถือว่าใกล้ชิดกันมากขึ้นแต่ยังข้ามไปไม่ได้หากอยากชมประสาทพระวิหารก็ต้องเข้าจากประเทศกัมพูชาเท่านั้น

_MG_1475.JPGศรีสะเกษ 5.jpg
  • ธนา พลอินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

ในสมัยที่ไทยกระทบกระทั่งกับกัมพูชาผามออีแดงก็จะปิดไม่ให้ท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม เจ้าหน้าทีอุทยานก็ต้องลงไปทำงานข้างล่าง ส่วนพื้นที่ข้างบนมีไว้สำหรับทหารและหน่วยงานที่เกียวกับความมั่นคง ผิดกับปัจจุบันนี้ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างหนาตา 

“เดี๋ยวนี้เมื่อเราสื่อสารออกไปหาประชาชนก็จะไม่เน้นคำว่าประสาทพระวิหาร จะเน้นจุดเด่นในธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความโดดเด่นในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติไม่สามารถประเมินค่าได้

บางครั้ง ในวันหยุดเราสารถเก็บเงินจากค่าเข้าอุทยานจากนักท่องเที่ยวได้ถึง 180,000 บาท จากผู้ใหญ่ที่คิด 40 บาท เด็ก 20 บาท และชาวต่างชาติผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท แม้จะยกเว้นไม่เก็บนักบวชหรือผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปี ยังมีรายได้เข้ามาขนาดนี้ ถือว่าได้รับความนิยมขึ้นมามากผิดกับหลายปีก่อนที่สามารถเก็บหลักพันหรือหลักหมื่นเท่านั้น” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบอกเล่าความนิยมของผามอดีแดงในปัจจุบัน

_MG_1496.JPGศรีสะเกษ 4.jpg

ไม่เพียงแต่ในประเทศชั้นนำ หรือตลาดวัฒนธรรมที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลาสติก เพราะผามออีแดงก็มีนโยบายห้ามไม่ให้นำพลาสติก หรือโฟมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้ามาในบริเวณอุทยาน เพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม และธรรมชาติที่ดีให้คงอยู่ต่อไป

ดังนั้น ไม่ว่าจะหนาวนี้ หรือฤดูไหน อย่าพลาดโอกาสไปชมแสงแรก และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จังหวัดศรีสะเกษ เมืองเล็กๆ แห่งอีสานใต้ที่ยังมีอีกหลายแง่มุมรอให้มาสัมผัส

On Being
198Article
0Video
0Blog