นายบุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน เปิดเผยว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ตัวแทนสมัชชาคนจนเข้ามายื่นเอกสารเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปัญหาของสมาชิกใน 5 ประเด็น หลังจากคณะกรรมการบริหารสมัชชาคนจนมีมติหลังรัฐประหาร เมื่อเดือน พ.ค. 2557 ไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลคณะรัฐประหาร
โดยวันนี้ (17 ก.ค.) มีสมาชิกของสมัชชาฯ ประมาณ 40 คน จาก 10 จังหวัด อาทิ จ.บึงกาฬ, จ.ระยอง, จ.ชลบุรี, จ.ตรัง, จ.นครสวรรค์ เป็นต้น ยื่นข้อเสนอ 5 เรื่องที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ในประเด็น 1) ให้รัฐควบคุมและยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการเกษตร และเร่งส่งเสริมแนวทางเกษตรทดแทนการใช้สารเคมีเป็นพิษ 2)ให้รัฐควบคุมดูแลราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้น 3) ให้หยุดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน 4) ให้รัฐบาลควบคุมดูและและบังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหาการเลิกจ้างและยุติการละเมิดสิทธิแรงงาน และ 5) ให้รัฐบาลดูแลให้คนงานได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม
(บุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน)
อย่างไรก็ตาม นายบุญยืน ย้ำว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้เร่งแก้ไข คือ เรื่องราคาน้ำมัน เพราะปัจจุบันมีน้ำมันและเชื้อเพลิงมีราคาสูง เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนด้านการเกษตรให้สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้เกษตรกรเดือดร้อน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต่อมาคือปัญหาแรงงาน เพราะในขณะที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนจำนวนมาก แต่กลับปล่อยปละให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานสูงมาก รวมถึงเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไม่ต้องการให้กลับไปใช้ระบบให้ประชาชนร่วมจ่ายหรือจ่ายฝ่ายเดียว เพราะจะมีโอกาสให้คนป่วยล่มสลายหรือต้องขายทรัพย์สินรักษาตัวเองสูงมาก ในยุคที่ค่ารักษาพยาบาลมีราคาสูง
"ความจริงเราให้ความสำคัญทุกประเด็น ที่เสนอวันนี้ แต่เบื้องต้นอยากให้มองภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม เพราะทุกครัวเรือนใช้เหมือนกันหมด และหลังจากนี้ เราจะติดตามผลการแก้ปัญหา ซึ่งหากไม่คืบหน้าก็จะมาติดตามผลแน่นอน" นายบุญยืน กล่าว
จี้รัฐควบคุม-ยกเลิกการใช้พาราควอต เน้นส่งเสริมทำการผลิตแบบเกษตรนิเวศ
นายแผ้ว เขียวดำ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน กล่าวระหว่างอ่านแถลงการณ์เรื่อง 'รัฐต้องควบคุมและยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการเกษตรและเร่งส่งเสริมแนวทางการเกษตรทดแทนการใช้สารเคมีเป็นพิษ' ว่า หนึ่ง รัฐจะต้องควบคุมการใช้ การนำเข้าสารเคมีด้านการเกษตร พร้อมยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรที่เป็นพิษ โดยเฉพาะสารพาราควอต ซึ่งมีพิษภัยร้ายแรง และต้องคำนึงถึงผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลประโยชน์ของบรรษัทเคมีเกษตร ตามแถลงการณ์ของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561
(แผ้ว เขียวดำ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน)
สอง รัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องเร่งศึกษาหาแนวทางการทำเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ เพื่อทดแทนการทำเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีเป็นพิษต่อชาวนาชาวไร่รายย่อย ต่อผู้ผลิตทางการเกษตร ต่อผู้บริโภค ต่อชุมชนและต่อระบบนิเวศ
สาม รัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ชาวนาชาวไร่รายย่อยทำการผลิตแบบเกษตรนิเวศ เพื่อมุ่งไปสู่อธิปไตยทางอาหารและปกป้องสิทธิเกษตรกร
สี่ รัฐต้องไม่ปล่อยให้ระบบอาหารและการเกษตรของประเทศ ตกอยู่ในการควบคุมหรือผูกขาดของบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจการเกษตร ตามระบบการค้าเสรี
ขอรัฐคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกินลิตรละ 20 บาท ก๊าซหุงต้มไม่เกิน 350 บาทต่อถัง
น.ส.รัชนี สิทธิรัตน์ สมาชิกสมัชชาคนจน กล่าวว่า ปัญหาราคาพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเดือนร้อนของประชาชนหลายมิติ ทั้งเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าขนส่ง การเดินทาง ทำให้ค่าครองชีพในสังคมปัจจุบันพุ่งสูงขึ้น ขณะที่รายได้ที่แท้จริงของประชาชนลดลง
ดังนั้น จึงมีข้อเรียกร้อง 2 เรื่อง ได้แก่ รัฐต้องเข้ามาควบคุมดูแลปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริง โดยขอให้มีราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 20 บาท และ รัฐต้องควบคุมราคาก๊าซหุงต้มในครัวเรือนไม่เกิน 350 บาทต่อถัง (15 กิโลกรัม)
(รัชนี สิทธิรัตน์ สมาชิกสมัชชาคนจน)
ค้านแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังเลือกตั้งทั่วไปแล้วค่อยคุย
นายประสิทธิ์ จิตรา สมาชิกสมัชชาคนจน กล่าวว่า เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เคยพูดถึงเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิบัตรทอง เป็นผลจากประชานิยม และทำให้เป็นภาระที่ต้องหางบประมาณเพิ่ม หรือ ขอให้ประชาชนร่วมกันรับผิดชอบและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ดำเนินการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีของรัฐบาลไม่เพิ่มขึ้น
กระทั่งรัฐบาล ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นมาแก้ไขในประเด็น เช่น ลดสัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มาจากภาคประชาชน การให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
(ประสิทธิ์ จิตรา สมาชิกสมัชชาคนจน)
"การกระทำที่บิดเบือนต่อเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายดังกล่าว เป็นความพยายามกีดกันการมีส่วนร่วมและตรวจสอบจากประชาชน ทำให้ชาวบ้านเสียสิทธิที่เคยได้รับ และยังผลักภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษากลับมาที่ชาวบ้าน อันอาจทำให้ปัญหาการล้มละลายจากการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นในอดีตกลับมาอีกครั้ง" นายประสิทธิ์ กล่าว
ดังนั้น สมัชชาคนจน จึงขอคัดค้านกระทำใดๆ อันนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ทำให้ผิดต่อเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว และหากมีการแก้ไขกฎหมาย ขอให้รอมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ
เร่งรัฐดูแลสิทธิแรงงาน อย่าเน้นเพียงส่งเสริมการลงทุน
นายนฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย หรือ GMTH จ.ระยอง กล่าวว่า นับตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ทำให้ประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างมาก จนรัฐต้องออกนโยบายสนับสนุนนักลงทุนแบบทุกด้าน รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่ทำให้นักลงทุนละเมิดสิทธิแรงงานได้ง่ายขึ้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถเข้ามาควบคุมดูแลหรือบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทันสถานการณ์
ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมากขึ้น และต้องเผชิญปัญหาแต่เพียงลำพัง โดยเฉพาะในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา มีแรงงานในระบบถูกเลิกจ้างเฉลี่ยกว่า 146,000 คน จากแรงงานในระบบประมาณ 10.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.35 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2561 โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดการพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานกับสถานประกอบการ และปัญหาการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี นำเครื่องจักรมาแทนแรงงานคน การปลดพนักงานที่มีอายุงานมาก เงินเดือนสูง เป็นต้น
(นฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย)
"ในรอบปีที่ผ่านมา มีการปลดพนักงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดกว่าแสนคน และจำนวนกว่าครึ่งไม่สามารถหางานใหม่ได้" นายนฤพนธ์ กล่าว
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน มิให้มีการละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมกับให้รัฐบาลส่งเสริมสิทธิการรวมกลุ่มกันเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ควบคุมนักลงทุนให้เคารพซึ่งหลักจรรยาบรรณทางการค้า ควบคุมนักลงทุนจัดให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงได้รับสิทธิเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการโดยเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ และรัฐต้องคุ้มครองเยียวยาผู้ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ชงรัฐบังคับใช้กฎหมายเก็บเงินสะสมเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่น้อยกว่า 5%
(วรกานต์ ขันตี เลขานุุการสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย)
ขณะที่ น.ส.วรกานต์ ขันตี เลขานุุการสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย (GMTH) จ.ระยอง กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาค่าจ้างที่เป็นธรรม แก่มนุษย์แรงงาน ตามสโลแกน "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เพราะหลังจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนมีการปรับขึ้นค่าจ้างเพียง 2 ครั้ง และครั้งล่าสุด ปรับในสัดส่วนไม่เท่ากันคือจังหวัดที่ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 308 บาท และสูงสุด 330 บาท ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับราคาสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพของคนงานทั้งในระบบและนอกระบบที่มีกว่า 40 ล้านคน
จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา 4 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และปรับเพิ่มขึ้นตามอายุงานสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 20 สอง ให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ สาม ให้รัฐบาลกำหนดโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทเอกชน เช่นเดียวกับโครงสร้างเงินเดือนของราชการ และ สี่ ทุกครั้งที่มีการประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้รัฐบาลประกาศปรับส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างทุกคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :