ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มโทษคดีค้ายาเสพติดเป็นโทษประหาร ด้านทูตสิงคโปร์สนับสนุนว่าสิงคโปร์ปราบยาเสพติดได้ก็เพราะใช้โทษประหารชีวิต

สำนักข่าว The Washington Post รายงานว่ารัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำโทษประหารชีวิตมาใช้กับคดีค้ายาเสพติด เพื่อแก้ไขวิกฤตโอปิออยด์ กลุ่มของสารเคมีที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติคล้ายคลึงกับมอร์ฟีน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 64,000 รายในปี 2016

แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่าคณะกรรมาธิการด้านนโยบายภายในประเทศและกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ กำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และจะสรุปผลภายในไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้ หลังจากที่ทำเนียบขาวเสนอว่าหนึ่งในการปราบปรามโอปิออยด์คือการประหารชีวิตผู้ลักลอบขนเฟนทานิลในปริมาณมาก เพราะเป็นสารโอปิออยด์ที่มีฤทธิ์แรงที่สุด แม้ใช้สารเสพติดชนิดนี้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้คนตายได้

ก่อนหน้านี้ นายทรัมป์เคยชื่นชมนโยบายสงครามปราบยาเสพติดของนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แม้องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกต่างประณามว่าสงครามปราบยาเสพติดของนายดูแตร์เต ส่งเสริมให้มีการตั้งศาลเตี้ยและสังหารผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยปราศจากการไต่สวน โดยฮิวแมนไรท์วอทช์รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตในสงครามปราบยาเสพติดของฟิลิปปินส์พุ่งสูงกว่า 12,000 รายแล้ว

ปัจจุบันกฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดโทษประหารไว้กับคดียาเสพติด 4 กรณี ได้แก่ การฆาตกรรมระหว่างการไล่ยิงในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนระหว่างการลักลอบขนส่งยาเสพติด การฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขนยาเสพติด และการฆาตกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด

ด้านปีเตอร์ เอช เมเยอร์ส อาจารย์นิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ระบุว่าแม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษประหารในคดียาเสพติด แต่ในทางกฎหมายแล้ว การเพิ่มโทษประหารกับคดียาเสพติดเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ

สำนักข่าว The Washington Post ยังรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ซึ่งกล่าวว่านายทรัมป์สนใจนโยบายการประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติดของสิงคโปร์ และมองว่าบทลงโทษที่รุนแรงทำให้บางประเทศมีปัญหายาเสพติดน้อยกว่าสหรัฐฯ โดยเขากล่าวว่าหากยิงคนหนึ่งตาย คนนั้นจะต้องติดคุกตลอดชีวิต แต่ผู้ค้ายาเสพติดฆ่าคนนับพันคน โดยที่ไม่ได้รับโทษใดๆ

นอกจากนี้ ตัวแทนจากสิงคโปร์ได้เข้าไปอธิบายให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวฟังเกี่ยวกับนโยบายปราบยาเสพติดของสิงคโปร์ ทั้งการบำบัดและการให้การศึกษา รวมถึงการใช้โทษประหารด้วย

สำนักข่าวเอเชียน คอร์เรสปอนเดนท์รายงานว่าอโศก กุมาร มีร์ปุริ ทูตสิงคโปร์ประจำสหรัฐฯ กล่าวว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่จัดการปัญหายาเสพติดได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก คิดสัดส่วนประชากรที่ใช้ยาเสพติดประมาณ 30 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเป็นผลจากการใช้บทลงโทษที่รุนแรงกับคนขายและคนใช้ยาเสพติด สิงคโปร์ไม่ได้สนุกกับการใช้โทษประหาร แต่ชาวสิงคโปร์เข้าใจถึงความจำเป็นและสนับสนุนโทษประหาร แม้สิงคโปร์จะไม่ค่อยประหารชีวิตนักโทษแล้วในช่วงหลังมานี้

เมื่อปี 2015 นายคริสตอฟ เฮนส์ ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติเคยออกมาเตือนว่าการใช้โทษประหารชีวิตสู้กับยาเสพติดเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และในหลายประเทศที่มีกฎหมายนี้มักจะมีการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา และโทษประหารชีวิตไม่ควรถูกนำมาใช้กับคดีที่ไม่ได้ 'ร้ายแรงมาก' เหมือนคดียาเสพติด

ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2016 ทั้งเม็กซิโก กัวเตมาลา และโคลอมเบีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่บอบช้ำจากความรุนแรงที่เกิดจากการลักลอบค้ายาเสพติด ต่างออกมาเรียกร้องให้สหประชาชาติลงมติให้ใช้วิธีจัดการปัญหายาเสพติดที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น รวมถึงมีวิธีป้องกันปัญหายาเสพติด แทนการบังคับใช้กฎหมายลงโทษและทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรมร้ายแรง เพราะวิธีการปัจจุบันไม่สามารถจัดการกับปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงความเห็นกับวอยซ์ออนไลน์ว่า เราไม่สนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิตและโทษประหารชีวิตนอกจากจะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแล้วยังไม่ใช่วิถีทางแก้ไขปัญหาหรือทำให้อาชญากรรมลดลงแต่อย่างใด มีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังแนะว่า รัฐควรจะมองการแก้ไขปัญหาที่รอบด้าน ไม่ว่าสาเหตุของปัญหาหรือต้นตอของปัญหา เพราะผู้ที่กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นผู้เสพหรือผู้ค้ารายเล็กๆ หรือการสร้างระบบที่ปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดปัญหานี้ตั้งแต่แรก การมีพื้นที่และระบบที่ช่วยเยียวยาผู้เสพยาหรือคนที่พ้นโทษไม่ให้กลับมากระทำผิดอีก และการลดอาชญากรรมต่างๆเป็นภารกิจหลักของรัฐที่จะต้องสร้างสังคมที่ปลอดภัยและเป็นสุขให้กลับประชาชนโดยที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายรวมทั้งสังคมด้วยเช่นกัน

ที่มา: The Washington Post, Asian Correspondent, OHCHR, The Guardian