ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนอดีตตั้งแต่ยุคกรีก จนมาถึงปัจจุบันการ "ซ่อม"ในสังคมอำนาจนิยมเป็นอย่างไร?

เชื่อไหมครับว่า อะไรที่คลับคล้ายคลับคลากับการ ‘รับน้อง’ ‘ซ่อม’ หรือการ ‘แดก’ แล้วแต่จะเรียกกันในแต่ละวงการ แต่ละสถานที่ แต่พวกฝรั่งเรียกรวมๆ กันว่า ‘hazing’ (แน่นอนว่า ในโลกภาษาอังกฤษก็มีคำเรียกอะไรแบบนี้แตกต่างกันไปในแต่ละวงการ และสถานที่เช่นเดียวกับในภาษาไทย) นั้น มีปรากฏในเอกสารมาอย่างน้อยตั้งแต่เมื่อ 387 ปีก่อนคริสต์กาล หรือเฉียดๆ 2,400 ปีที่แล้วเลยทีเดียว

หลักฐานอยู่ในเอกสารของนักปรัชญากรีกคนดังอย่าง เพลโต (Plato) ที่ได้พูดถึงอะไรทำนองนี้ ที่มีอคาเดมี (academy) ของท่านเองอยู่ในเอาไว้ว่า

           “เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ (joke) ในทางปฏิบัติ ที่พวกเด็กหนุ่ม และคนพวกนั้น เล่นกันอย่างไม่กลัวว่าจะบาดเจ็บสาหัสเอาเสียเลย”

ถูกต้องแล้วนะครับ นี่เป็นหลักฐานของอะไรที่คล้ายๆ กับการรับน้องที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และหลักฐานเก่ากึ้กชิ้นนี้ก็บอกเอาไว้ด้วยว่า เป็นการรับน้องที่มาพร้อมกับความรุนแรง (ถ้าไม่รุนแรงแล้ว เพลโตท่านจะพูดถึงอาการบาดเจ็บเอาไว้ทำไมกัน?) ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า การรับน้องคงจะไม่ได้มีเฉพาะที่อคาเดมีของเพลโต ในโลกของพวกกรีกยุครุ่งเรืองเมื่อครั้งกระโน้น

เพลโต.jpg


แถมเพลโตก็ไม่ใช้เซเลบคนเดียวในประวัติศาสตร์โลก ที่พูดถึงอะไรที่ดูจะเป็นต้นแบบของการรับน้องเอาไว้นะครับ นักบุญออกุสติน แห่งเมืองคาเธจ (Carthage) ก็ได้เขียนถึงอะไรทำนองนี้ไว้ในเอกสารที่มีศักราชระบุตรงกับปี พ.ศ. 914 ว่า มันจะมีการเสียดสี ถากถาง และกระทำการอันธพาลใส่พวกเด็กใหม่ โดยสิ่งที่นักบุญท่านไม่ได้เรียกว่า ‘รุ่นพี่’ แต่เรียกว่า ‘eversor’

คำว่า ‘eversor’ เป็นคำในภาษาละตินหมายถึง ‘ผู้ทำลายล้าง’ ซึ่งนี่ก็คงจะทำให้เห็นภาพกันได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า นักบุญท่านนี้ก็ไม่ได้รู้สึกปลื้มปริ่มอะไรกับการจับเอาน้องใหม่มาซ่อม ทั้งๆ ที่ร่างกายและจิตใจของพวกเขาก็ไม่ได้เสียที่ตรงไหน? และก็คงไม่ได้ต่างอะไรไปกับที่เพลโตว่ามันเป็นเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระด้วย

แต่ในคนที่ดูจะไม่ปลื้มกับอะไรที่คล้ายๆ กับการจับเอาน้องใหม่มาซ่อมทั้งๆ ที่ไม่ได้เสีย มากที่สุดในบรรดาเซเลบริตี้ของโลกยุคโบราณนั้น ก็น่าจะเป็นพระจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinain) แห่งโรมันตะวันออก หรือไบแซนไทน์ เพราะเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1073 นั้น พระองค์ถึงกับทรงตรากฎหมายให้ยุติการซ่อมน้องใหม่ของนักศึกษาวิชานิติศาสตร์เลยทีเดียว

แน่นอนว่า ในบรรดาบุคคลสำคัญที่ผมพาดพิงถึงมาทั้งสามคนนั้น มีเพียงจักรพรรดิจัสติเนียนที่ทรงมีอำนาจพอจะจัดการด้วยวิธีที่เด็ดขาดอย่างนี้ได้ และเราก็คงไม่อาจจะแน่ใจได้เลยว่า ถ้าทั้งเพลโต และนักบุญออสกุสตินท่านมีอำนาจอย่างเดียวกันอยู่ในมือแล้ว ท่านจะทำอะไรคล้ายๆ กับที่จักรพรรดิจัสติเนียนทรงกระทำหรือเปล่า?

ไม่ต้องพยายามสังเกตก็คงจะเห็นได้กันชัดๆ อยู่แล้วนะครับว่า นับจากสมัยของเพลโต มาจนถึงจักรพรรดิจัสติเนียน ซึ่งกินเวลาเกือบ 1,500 ปีนั้น การซ่อมน้องใหม่ด้วยความรุนแรง ก็ยังมีอยู่ในสังคมของโลกตะวันตกมาโดยตลอด และก็ถูกมองโดยใครหลายคน ทั้งที่มี และไม่มีอำนาจด้วยว่า นี่แหละปัญหา

แต่ในเมื่อมันเป็นปัญหาแล้ว ทำไมอะไรทำนองนี้ถึงยังอยู่คงทนมาได้เป็นพันกว่าปีนับจากเพลโต มาจนถึงจักรพรรดิจัสติเนียน แถมยังอยู่ยงคงกะพันมาอีกนับพันปี หากจะนับเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้อีกด้วยต่างหาก?  

‘hazing’ เป็นคำในโลกภาษาอังกฤษแบบอเมริกันชน ถ้าจะเรียกแบบติดกลิ่นสำเนียงผู้ดีอังกฤษ เขาใช้คำว่า ‘initiation ceremony’ (แน่นอนว่าคำนี้ต้องมีมาก่อนคำของพวกไอ้กัน) ที่ถ้าจะแปลอย่างตรงตัวแล้วก็คือ ‘พิธีกรรมเริ่มต้น’  คำถามก็คือ แล้วไอ้ ‘เริ่มต้น’ ที่ว่านี้มันคือการเริ่มต้นของอะไร?

 ยุคกลาง ในยุโรป เมื่อราวหลัง พ.ศ.​1500 มีศัพท์คำว่า ‘studium generale’ เป็นภาษาละติน (ในช่วงยุคกลางการเรียนการสอนในทุกสาขาจะเรียนด้วยภาษาละติน) ตรงกับคำว่า 'general study’ หรือการศึกษาทั่วไปในภาษาอังกฤษ สถานที่สอนการศึกษาทั่วไปที่ว่านี้จะต้องมีการสอนวิชาใดวิชาหนึ่งในสามวิชาที่ประกอบไปด้วย แพทย์ศาสตร์ นิติศาสตร์ และเทววิทยา จึงจะเรียกว่าเป็นสถานที่สอนการศึกษาทั่วไปได้

การเรียนการสอนอย่างที่ว่านี้จึงต่างไปจากระบบการศึกษาอคาเดมีของเพลโต และพวกกรีกทั้งหลายที่มีผู้สอนเพียงคนเดียว ไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอน เนื้อหาก็สอนตามแต่ที่อาจารย์ถนัด และจำกัดผู้เรียน ต่างกันกับในยุคกลางที่มีการเรียนการสอนหลายวิชา และมีหลักสูตรการสอนที่แน่นอน

ระบบการจัดการของสถานที่สอนการศึกษาทั่วไปที่ว่านี้ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากที่ระบบการจัดการทางสังคมอื่นๆ ในยุคกลางที่เรียกว่า ‘กิลด์’ (guild) ซึ่งอาจจะแปลอย่างง่ายๆ ได้ว่าคือ สมาคมอาชีพ เพราะการประกอบอาชีพใดๆ ในสังคมเมืองยุคกลางก็ตาม จำเป็นจะต้องได้รับการฝึกหัด และยอมรับจากสมาคมอาชีพนั้นๆ เสียก่อน สมาคมที่ว่ายังมีหน้าที่ในการจัดการควบคุม และดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในกิจการเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ อีกด้วย

และด้วยลักษณะที่ว่า หลายครั้งจึงเรียกกิลด์ต่างๆ ว่า 'university’ ซึ่งมาจากคำว่า universitas ในภาษาละตินที่แปลว่า ‘ทั้งหมด’ ซึ่งมีนัยยะถึงการรวมกันของกลุ่มต่างๆ ในระยะแรกคำว่ายูนิเวอร์ซิตี้จึงหมายถึงกลุ่ม หรือสมาคมของผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน จึงมีคำว่า ยูนิเวอร์ซิตี้ของนักศึกษา และอาจารย์ ไม่ต่างจากยูนิเวอร์ซิตี้ของพ่อค้า หรือช่างตัดผม ในสมัยหลังจึงค่อยเป็นคำใช้เฉพาะแทนสถานศึกษา จนเลิกใช้คำว่า studium generale ไปในที่สุด

ด้วยโครงสร้างทางสังคมแบบนี้เอง การเริ่มต้นของอะไรที่พวกชนชาวอิงเกอลันด์เรียกว่า ‘initiation ceremony’ ในยุคนั้น จึงไม่ใช่แค่การเริ่มต้นของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษาเท่านั้นนะครับ แต่เป็นการเริ่มเข้าไปอยู่ในสายอาชีพ หรือจักรวาลของสาขาวิชานั้นด้วย

แน่นอนว่าในสมัยกลางก็มีอะไรที่คล้ายๆ กับการรับและซ่อมน้องอยู่ตามยูนิเวอร์ซิตี้พวกนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะกิจกรรมอะไรอย่างนี้ย่อมส่งเสริมให้ลำดับชั้นสูง-ต่ำ ในโครงสร้างของอะไรหลายอย่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ผู้ที่สนับสนุนระบบที่ว่า ก็ไม่ได้ใช้งานมันเพียงเพื่อตอกย้ำถึงโครงสร้างพวกนี้เท่านั้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ มาร์ติน ลูเธอร์ บิดาผู้ให้กำเนิดคริสต์ศาสนา นิกายโปรแตสแตนท์ ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยถูกพี่ๆ เขาซ่อมสมัยยังเป็นน้องใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2044 จนทำให้ในอีก 38 ปีต่อมา เขาก็กลายเป็นผู้สนับสนุนระบบที่ว่า โดยให้เหตุผลว่า เป็นเครื่องฝึกหัดให้ผู้ชายเข้มแข็งยิ่งขึ้น จนพร้อมจะเผชิญหน้า และอดทนต่ออะไรก็ตามที่จะเข้ามาท้าทายชีวิต

ดังนั้น ถึงแม้ว่าในสมัยกลางก็มีกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับในระบบการรับ และซ่อมน้องพวกนี้ด้วยเหมือนกัน (ตัวอย่างเช่น กลุ่มนักศึกษาจากเมืองอาวิญอง ที่ตั้งกลุ่มแอนตี้การซ่อมน้องใหม่ของ Fraternity of St. Sebastian เมื่อ พ.ศ. 1984 เป็นต้น) แต่การที่ระบบดังกล่าวสนับสนุน และส่งเสริมลำดับชั้นสูง-ต่ำทางสังคม (hierarchy)  โดยเฉพาะในสังคมแบบผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ก็ทำให้ระบบแบบนี้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ แถมยังอยู่คู่มาด้วยกันกับ ไอ้ความรุนแรงที่มีอยู่ในระบบ ด้วยข้ออ้างของความเป็นชายที่สมบูรณ์นั่นแหละ

และสุดท้ายระบบการรับและซ่อมน้องก็ถูกนำเข้าไปผนวกรวมเข้ากับหน่วยทางสังคม ที่เน้นย้ำถึงความเป็นชายจนถึงที่สุดอย่าง ‘กองทัพ’

เป็นไปได้หรือ สนช.แนะรื้อระบบอุปถัมภ์กองทัพ


ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ที่ทำเสนอต่อมหาวิทยาลัยแห่งเมืองแมรีแลนด์ (University of Maryland) เรื่อง ‘Definitions of Hazing: Differences Among Selected Student Organizations’ ที่จัดทำโดย แชด วิลเลียม แอลส์เวิร์ธ (Chad William Ellsworth) เมื่อ พ.ศ.​ 2547 ได้ระบุว่า การรับและซ่อมน้องอย่างรุนแรง เพิ่งจะเริ่มมีหลักฐานปรากฏในบรรดาโรงเรียนการทหารในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เมื่อราว พ.ศ. 2448-2455 อันเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 6 ของไทยเท่านั้นเองนะครับ

แต่ก็น่าสังเกตด้วยว่า เป็นช่วงเวลาดังกล่าวนั่นแหละ ที่ประเทศสยามในขณะนั้นกำลังส่งนักเรียนไปเรียนการทหารจากยุโรปกันเสียให้เพียบ ดังนั้นถ้าจะมีนักเรียนทหารไทยบางคนรับเอาวัฒนธรรมการรับ-ซ่อมนักเรียนทหาร ด้วยความรุนแรงติดมือกลับมาด้วยนั้นก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก

และก็ไม่ใช่เฉพาะในไทยเท่านั้น ในกองทัพของรัสเซีย ได้มีการพัฒนาระบบการซ่อมทหารน้องใหม่อย่างรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นอะไรที่เรียกว่า ‘Dedovshchina’ ที่แปลว่า ‘กฎของคุณปู่’ ซึ่งก็เป็นอะไรที่ตอกย้ำถึงระบบอาวุโส และลำดับความสัมพันธ์สูง-ต่ำ ของโครงสร้างกองทัพ ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดีที่สุด

ไม่ว่าน้องเมยจะเสียชีวิตเพราะสาเหตุอะไรแน่ แต่ก็แน่นอนว่าเขาต้องได้เคยเผชิญหน้ากับการซ่อมน้องใหม่ เช่นเดียวกับที่ทั้งเพลโต นักบุญออกุสติน จักรพรรดิจัสติเนียน และแม้กระทั่งมาร์ติน ลูเธอร์ เคยพบ และอาจจะเผชิญมาด้วยซ้ำ

และ ‘ความรุนแรง’ เช่นนี้ยังคงทรงพลัง และสร้างให้เกิดผู้เสียหายต่อไปอย่างไม่รู้จบ ตราบที่ความรุนแรงยังนั่งพิงพนักนุ่มๆ ของอุดมคติความเป็นชายที่สมบูรณ์ และเกื้อหนุนให้เกิดความสัมพันธ์ลำดับสูง-ต่ำในโครงสร้าง ไม่ใช่เฉพาะในกองทัพ แต่รวมถึงในโครงสร้างสังคมทั้งระบบ


Siripoj Laomanacharoen
0Article
0Video
0Blog