ไม่พบผลการค้นหา
รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือระบุ 'เจ้าหน้าที่รัฐ' เป็นผู้ก่อเหตุละเมิดทางเพศผู้หญิงอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้หญิงจำนวนมากไม่รู้ตัว เพราะเข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในเครื่องแบบ

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ความยาวทั้งหมด 86 หน้า ชื่อว่า “You Cry at Night but Don’t Know Why” Sexual Violence against Women in North Korea ("เธอร้องไห้ในยามค่ำ แต่ไม่รู้ว่าทำไม" : ความรุนแรงทางเพศที่กระทำต่อผู้หญิงเกาหลีเหนือ) โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทางการของ HRW เมื่อวานนี้ (31 ต.ค. 2561) 

บทคัดย่อของรายงานระบุว่า บุคลากรในรัฐบาลเกาหลีเหนือต่างใช้สิทธิของความเป็น 'เจ้าหน้าที่' ล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง โดยใช้วิธีแอบอ้างอำนาจรัฐและอ้างข้อบังคับทางกฎหมาย ทำให้เกิดการ 'ยัดข้อหา' ผู้หญิงจำนวนมากจึงต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ล่วงละเมิดทางเพศหรือติดสินบน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวหรือยกเว้นโทษ

https://www.hrw.org/sites/default/files/styles/946w/public/multimedia_images_2018/201811asia_northkorea_photo1.jpg?itok=ijuXQLCA

(HRW ระบุว่าผู้หญิงจำนวนมากถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรม และถูกเจ้าหน้าที่ของเกาหลีเหนือบังคับให้ยอมมีเพศสัมพันธ์หรือจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว/ ภาพ: Choi Seong Guk/Human Rights Watch)

อย่างไรก็ตาม 'แอนนา ดาลี' ผู้จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือเผยว่า ผู้ถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศจำนวนมากไม่ตระหนักว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งเลวร้าย เพราะผู้หญิงในสังคมเกาหลีเหนือถูกทำให้เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างถูกต้องและชอบธรรม

"ในเกาหลีเหนือ ผู้ชายที่มีอำนาจมักคุกคามทางเพศ ข่มขืน หรือทำร้ายผู้หญิง โดยฉวยโอกาสจากการที่ประเทศตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว และเวลาพูดถึง 'ผู้ชายที่มีอำนาจ' จะรวมถึงทุกคนที่ทำงานให้กับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรครัฐบาล ตำรวจ ผู้คุมเรือนจำ หรือแม้แต่ทหาร"

ขณะที่ 'พักซอลทัน' ชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ ซึ่งหลบหนีมาพำนักที่เกาหลีใต้ในปัจจุบัน เปิดเผยกับ HRW ว่า เวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีเหนือออกลาดตระเวนและพบผู้หญิงหน้าตาดี พวกเขาจะพยายามหากฎหมายมาเอาผิดผู้หญิงเหล่านั้น เช่น เรียกตรวจบัตรประจำตัวหรือเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะผู้ค้าขายที่จะต้องมีใบอนุญาต หรือแม้แต่กล่าวอ้างว่าผู้หญิงเหล่านั้นครอบครองวัตถุที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและขัดแย้งต่อหลักการพรรคคอมมิวนิสต์ 


ผู้หญิงเกาหลีเหนือมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในเวทีโลก แต่....

ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา เกาหลีเหนือมีพัฒนาการที่สำคัญในเวทีโลก เพราะมีการรื้อฟื้นกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีเมื่อเดือน เม.ย. ตามด้วยการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่าง 'คิมจองอึน' ผู้นำเกาหลีเหนือ และ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการผลักดันแผนปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือต่อไปในอนาคต

ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ รวมถึงการพบกันอีกหลายครั้งระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ทำให้บทบาทของ 'รีโซลจู' ภริยาผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ โดดเด่นขึ้นมาในเวทีโลก เพราะในยุคสมัยของอดีตผู้นำคิมจองอิล บิดาของคิมจองอึน ไม่มีที่ทางให้ผู้หญิงปรากฏตัวในหน้าสื่อสักเท่าใดนัก และนอกเหนือจากรีโซลจูแล้ว ยังมี 'คิมโยจอง' น้องสาวของคิมจองอึน ซึ่งรับหน้าที่สำคัญด้านการทูตให้กับพี่ชายของตัวเองด้วย

การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทในเวทีระดับโลกของเกาหลีเหนือ ทำให้หลายประเทศชมเชยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และความคืบหน้าเรื่องการเจรจาเพื่อยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ก็ส่งผลให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกาหลีเหนือในด้านอื่นๆ เบาบางลงไป แม้แต่การพบปะกันระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีการพูดถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเป็นประเด็นใหญ่ในยุคก่อนหน้านี้

AP-คิมจองอึน-คิม-เกาหลีเหนือ-จีน-รีโซลจู-ริโซลจู-Ri Sol ju

(รีโซลจู (ซ้าย) ภริยาคิมจองอึน (ขวา) ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ เดินทางเยือนจีนพร้อมกันเมื่อต้นปี 2561)

ทั้งนี้ รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อปี 2557 บ่งชี้ชัดเจนว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือมีส่วนรู้เห็น หรือเพิกเฉยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในค่ายบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการจัดการกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐอย่างไม่เป็นธรรม โดยรวมถึงการข่มขืน การบังคับทำแท้ง การทำร้ายร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตผู้นำคิมจองอิลมาจนถึงยุคผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน

สื่อต่างประเทศ ทั้งอัลจาซีรา รอยเตอร์ และวอชิงตันโพสต์ รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือโดยอ้างอิงข้อมูลของ HRW พร้อมระบุว่าพยายามติดต่อไปยังเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำสหประชาชาติซึ่งพำนักอยู่ในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เพื่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติม แต่ไม่มีการตอบรับกลับมา


"พวกเขาใส่เครื่องแบบ กฎหมายอยู่ข้างเดียวกับเขา"

รายงานของ HRW ฉบับล่าสุดนี้ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ชาวเกาหลีเหนือแปรพ���กตร์ 62 รายซึ่งหลบหนีมายังเกาหลีใต้ หลังคิมจองอึนรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดเมื่อปี 2554 โดยแบ่งเป็นประชาชน 54 ราย และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเกาหลีเหนือ 8 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด มี 8 รายที่เคยเป็นนักโทษการเมือง และอีก 21 รายเป็นผู้ค้าขายสินค้าซึ่งเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามและละเมิดทางเพศ 

'อีโซยอน' นักกิจกรรมชาวเกาหลีเหนือที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า สภาพสังคมและเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือไม่เอื้อให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก ส่วนอาชีพหลักคือการเป็นเกษตรกรจะต้องผลิตเพื่อเลี้ยงชุมชนและรัฐ และในหลายโอกาสเกษตรกรต้องเจอกับภัยแล้งหรือภัยธรรมชาติ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

https://www.hrw.org/sites/default/files/styles/946w/public/multimedia_images_2018/201811asia_northkorea_photo2.jpg?itok=FPr0X6GB

(รายงานของ HRW สะท้อนภาพชีวิตประจำวันของผู้หญิงเกาหลีเหนือที่ต้องเผชิญกับการกดขี่ เพราะสังคมมีแนวคิดเรื่อง 'ชายเป็นใหญ่'/ ภาพ: Choi Seong Guk/Human Rights Watch)

ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจำนวนมากจึงผันตัวไปค้าขายเพื่อช่วยจุนเจือครอบครัว แต่กลับทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ตกเป็นเป้าโจมตีและเอารัดเอาเปรียบโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนกลายเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นเรื่องที่คนในสังคมไม่คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

'ยุนซูรยอน' อดีตผู้ค้าขายซึ่งปัจจุบันหลบหนีมาพำนักที่เกาหลีใต้ เปิดเผยกับ HRW ว่าเธอถูกกล่าวหาว่าลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย จึงถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขัง 1 คืน และได้รับการปล่อยตัวเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจขอมีเพศสัมพันธ์กับเธอเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ส่วนเธอเองก็ต้องการออกจากห้องขังเพื่อไปดูแลลูกๆ และครอบครัว

รายงานของ HRW ระบุด้วยว่า สถานการณ์ตอนนั้นไม่ได้ทำให้ยุนซูรยอนรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอเป็นการกระทำที่เลวร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐ คิดแต่เพียงว่าการหลับนอนกับเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งที่เธอต้องทำเพื่อให้พ้นโทษ พร้อมระบุว่า "พวกเขาใส่เครื่องแบบ กฎหมายอยู่ข้างเดียวกับเขา" แต่เมื่อเธอหลบหนีมาอยู่ที่เกาหลีใต้จึงได้เรียนรู้ว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบและล่วงละเมิดทางเพศประชาชน

'เคนเนธ รอธ' ผู้อำนวยการ HRW สำนักงานใหญ่ ย้ำว่า การล่วงละเมิดทางเพศประชาชนโดยเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย เป็นระบบ แต่กลับไม่มีการบันทึกหรือลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ส่งผลให้ผู้หญิงเกาหลีเหนือที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเชื่อว่า พวกเธอไม่สามารถได้รับความเป็นธรรม และในปัจจุบัน รัฐบาลเผด็จการคิมจองอึนก็ยังพยายามที่จะเงียบเสียงของพวกเธออยู่เช่นเดิม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: