นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ระดับหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 จะมีมูลค่าเกือบ 13 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.7 ของ GDP แต่ยังไม่น่าเป็นกังวล เนื่องจากเกือบร้อยละ 50 เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์และรถจักรยานยนต์
นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อเพื่อดำเนินธุรกิจ ซึ่งถือเป็นสินเชื่อที่สร้างรายได้ให้ครัวเรือน ซึ่งหากหักสินเชื่อส่วนนี้ออก หนี้ครัวเรือนของไทยจะลดลงมาอยู่ที่ร้อย 65.8 ของ GDP ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตอยู่ในระดับต่ำ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.3 ของทั้งหมด รวมถึงหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 3.3 เท่านั้น
สำหรับมาตรการแก้ไขไม่ให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น กระทรวงการคลังเตรียมให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารของรัฐ ลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเงิน การออม และบัญชีพอเพียงให้กับประชาชน รวมถึงเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ และให้ธนาคารเข้ามาช่วยดูแล โดยเฉพาะเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้บางราย
นอกจากนี้ ยังเตรียมผลักดันให้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น หลังที่ผ่านมาประเทศไทยมี SME มากกว่า 2.7 ล้านราย แต่มีผู้ที่ประกอบธุรกิจจดนิติบุคคลเพียงแค่ 5 แสนราย