ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ปฏิเสธความพยายามของฟิลิปปินส์ ที่จะขัดขวางการสืบสวนคดีสังหารคนหลายพันคนของฟิลิปปินส์ ในช่วงของนโยบาย “สงครามต่อต้านยาเสพติด” ของ โรดริโก ดูเตอร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ผู้ชูนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักของเขา

ในเดือน ม.ค. ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก ได้รับคำร้องของอัยการให้เปิดการสอบสวนการสังหารจากนโยบายสงครามต่อต้านยาเสพติดอีกครั้ง ซึ่งได้รับการระงับการสอบสวนไปในเดือน พ.ย. 2564 ตามคำร้องขอของฟิลิปปินส์ หลังจากฟิลิปปินส์โต้แย้งว่าองค์กรตามกฎหมายของฟิลิปปินส์เอง สามารถดำเนินคดีกับอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหาได้ โดยไม่ต้องนำเรื่องขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในห้องก่อนการพิจารณาคดี ศาลอาญาระหว่างประเทศระบุว่า แม้ว่าฟิลิปปินส์จะตระหนักถึงหน้าที่ของฟิลิปปินส์ในการต่อสู้กับการลักลอบขนยาเสพติดและการเสพติดยาเสพติด แต่การรณรงค์ที่เรียกว่า “‘สงครามต่อต้านยาเสพติด’ นั้น ไม่สามารถมองได้ว่าเป็นปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายได้"

ประชาคมระหว่างประเทศวิจารณ์กรณีการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดของฟิลิปปินส์มากขึ้น หลังจากดูเตอร์เตถอนฟิลิปปินส์ออกจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า อัยการยังคงมีอำนาจตัดสินคดีอาชญากรรมดังกล่าว เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประเทศฟิลิปปินส์ยังเป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศอยู่

เมื่อเดือน มี.ค. เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบันกล่าวว่า เขาจะตัดการติดต่อกับศาลอาญาระหว่างประเทศ หลังจากการยื่นอุทธรณ์อีกครั้งเพื่อหยุดการสอบสวนของศาลได้รับการปฏิเสธ

แฮร์รี โรเก อดีตโฆษกของดูเตอร์เตกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (18 ก.ค.) ว่า ดูเตอร์เต “ยืนยันอยู่เสมอว่าในฐานะรัฐเอกราชและมีอำนาจอธิปไตย มีเพียงศาลของฟิลิปปินส์เท่านั้นที่สามารถพิจารณาคดีอาชญากรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นในดินแดนของฟิลิปปินส์ได้” พร้อมยืนยันว่าอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ “จะเผชิญหน้ากับผู้กล่าวหาทุกคนได้ตลอดเวลา เว้นแต่ต่อหน้าศาลฟิลิปปินส์และต่อหน้าผู้พิพากษาฟิลิปปินส์เท่านั้น”

ชาวฟิลิปปินส์หลายพันคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ายาเสพติดระดับล่าง และผู้ใช้ยาเสพติด ถูกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสังหาร โดยเจ้าหน้าที่เหล่านั้น “เกือบจะไม่ต้องรับโทษ” ระหว่างการปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง ภายใต้นโยบายของดูเตอร์เต นอกจากนี้ ยังมีประชาชนอีกหลายคนที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ที่มีความลึกลับ

สำนักตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตเกือบ 6,000 คนในปฏิบัติการสงครามต่อต้านยาเพสติดระหว่างรัฐบาลของดูเตอร์เต แต่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวถึง 3 เท่า โดยรายงานที่เผยแพร่โดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2563 อ้างว่า มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน รวมถึงเด็กอย่างน้อย 73 คน ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดคือ 5 เดือน ที่เสียชีวิตจากนโยบายสงครามต่อต้านยาเสพติด

ศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสอบสวนข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยคดีบางส่วนตั้งขึ้นจากการฟ้องของเหยื่อจากความรุนแรงอย่างเป็นระบบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าพวกเขาสังหารผู้ต้องสงสัยเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น

ดูเตอร์เต เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ โดยเขาหาเสียงเพื่อขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีด้วยนโยบายการต่อสู้กับอาชญากรรม ทั้งนี้ ดูเตอร์เตเริ่ม “ทำสงครามต่อต้านยาเสพติด” ทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือน มิ.ย. 2559 และเรียกร้องให้ตำรวจ “สังหาร” ผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดในหลายครั้ง แม้ดูเตอร์เตจะถูกวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน 

อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปฏิเสธว่า เขาไม่ได้ให้การชี้แนะให้เกิดการฆ่า นอกเหนือไปจากการกล่าวให้มีการป้องกันตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยดูเตอร์เตกล่าวย้ำว่า เขาเต็มใจที่จะรับการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสงครามต่อต้านยาเสพติด แต่การดำเนินคดีดังกล่าวจะต้องอยู่ในอำนาจศาลของฟิลิปปินส์เท่านั้น

สำนักงานทนายความสูงสุดของฟิลิปปินส์ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ทางหน่วยงานจะยังคงมุ่งมั่นที่จะสืบสวนภายใน และดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับ “สงครามต่อต้านยาเสพติด” ในฟิลิปปินส์ต่อไป


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/7/18/icc-rejects-manilas-attempt-to-block-investigation-on-drug-war?fbclid=IwAR2Y4iKIhv0N2eS1uDuDbxhHnF3vfwmAZx0DpfBasHObP1VkgIDTwo2FQj8