ไม่พบผลการค้นหา
เส้นทางการค้ายาเสพติดเปลี่ยนจากแนวเทือกเขาชายแดนไทย-ลาว สู่แม่น้ำโขง ขณะที่UN รายงานว่า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งผลิตยาไอซ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 มิ.ย.) ตำรวจตระเวณชายแดนของออสเตรเลียตรวจจับยาไอซ์น้ำหนักกว่า 1.6 ตัน มูลค่ากว่า 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยยาไอซ์ดังกล่าวพบว่าถูกบรรจุอยู่ในถุงชาจีน และซุกซ่อนอยู่ในลำโพง ทั้งนี้หลังจากตรวจสอบพบว่ามีการขนส่งยาไอซ์ทั้งหมดนั้นมาจากประเทศไทย

ดูเหมือนว่าสถานการณ์ยาเสพติดในบริเวณพื้นที่ชายแดนไทยและลาวที่มีแม่น้ำโขงคั่นกลางระหว่างสองประเทศนั้นได้กลับมาระบาดอีกครั้ง สื่อต่างชาติรายงานว่า 'ลาว' เป็นเหมือนประตูของการขนส่งยาเสพติดในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งยาเสพติดเหล่านี้มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศเมียนมา ก่อนจะถูกส่งมายังประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลงไปถึงประเทศออสเตรเลีย

การขนส่งยาเสพติดเหล่านี้มักอาศัยพื้นที่ห่างไกลในแถบภูเขาของลาวเป็นเส้นทางการลำเลียงขนส่ง ก่อนจะนำเข้ามาสู่ไทยผ่านเส้นทางธรรมชาติในแนวเทือกเขาเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า 'ชายแดนเทือกเขาไทยลาวนั้นเปรียบเสมือนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ของยาเสพติดเหล่านี้'

แม้ว่าจะมีการปราบปรามยาเสพติดอย่างหนักของทหารไทยตามแนวเทือกเขาชายแดนระหว่างไทยและลาว เพื่อสกัดกั้นการขนส่งยาเสพติดนั้น ทำให้ผู้ค้ายาเสพติดหันไปใช้เส้นทางธรรมชาติทางอื่นอย่าง 'แม่น้ำโขง' เป็นเส้นทางการขนส่งแทน

ว่าที่. ร.ต.ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม กล่าวว่า "กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดได้ใช้ 'โดรน' บินสำรวจเส้นทางน้ำเพื่อสอดส่องดูเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมไปถึงการมีคนคอยสอดแนมและจับตาดูเจ้าหน้าที่ที่ด่านเข้าเมืองในฝั่งไทยด้วย ก่อนจะให้ชาวประมงชาวลาวแล่นเรืออกไปส่งยาเสพติด ซึ่งพวกเขาจะดับเครื่องยนต์ของเรือก่อนจะเข้าฝั่งไทย โดยอาศัยความมืดของแม่น้ำโขงช่วยบังตาเจ้าหน้าที่ในแนวชายแดนฝั่งไทย"

รายงานของสหประชาชาติเมื่อปี 2018 ระบุว่า บริเวณแม่น้ำโขงมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนแหล่งผลิตและค้าเมธแอมเฟตตามีน หรือ ยาไอซ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ชายแดนระหว่างไทย เมียนมา และลาว นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่า พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำนี้มีแนวโน้มเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตยาไอซ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เจเรอมี่ ดักลาส เจ้าหน้าที่ UN หน่วยงานยาเสพติดและอาชญากรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า "การผลิตยาไอซ์ไม่เหมือนเฮโรอีน ที่เราสามารถรู้แหล่งผลิตจากการปลูกฝิ่นได้ แต่ยาไอซ์มีการเคลื่อนย้ายจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่งได้อย่างง่ายดาย โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่รัฐเข้าไม่ถึงในบริเวณทางตอนเหนือของเมียนมาเป็นฐานการผลิตส่วนใหญ่"

เมื่อปี 2017 มีการจับกุมนายไซซะนะ เขียวพิมพา ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ของลาว ซึ่งการจับกุมดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือในการปราบปรามยาวเสพติดตามแนวชายแดนระหว่างลาวและไทย แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยาไอซ์ยังคงระบาดอยู่ตามแนวชายแดนรอบต่อของลาวและประเทศต่างๆในภูมิภาคอินโดจีน

อย่างเช่นในปีนี้ เจ้าหน้าที่ของเวียดนามตรวจจับยาไอซ์จำนวน 700 กิโลกรัมที่ซุกซ่อนไว้ในถุงชา ในเขตจังหวัดเหงะอาน ชายแดนลาว เวียดนาม ขณะที่กัมพูชาก็มีรายความความเคลื่อนไหวของการขนยาไอซ์บริเวณชายแดนกัมพูชา-ลาวเช่นกัน

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของกัมพูชากล่าวว่า "จากเมียนมาถึงลาวลงสู่กัมพูชานั้น เป็นหนึ่งในเส้นทางหลักในการขนส่งยาเสพติดจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ"

ปัจจุบันราคายาบ้าในพื้นที่ชายแดนของไทยตกอยู่ที่เม็ดละ 30 บาท ขณะที่ราคายาไอซ์ในกรุงเทพนั้นตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 341,000 บาท ขณะที่ราคายาไอซ์ในฝั่งลาวมีราคาอยู่ที่ 4,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 148,800 บาท

ทั้งนี้ รายงานของ UN ประเมินว่า มูลค่าการตลาดของยาเสพติดทั้งเฮโรอีนและยาไอซ์ในภูมิภาคนี้นั้นไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: