ไม่พบผลการค้นหา
สตง. แจงการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราสำหรับก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ มีคู่มือปฏิบัติงานฯ ชัดเจนสำหรับหน่วยงานต่างๆ นำไปปฏิบัติ ส่วนรายชื่อบริษัทรับรองมาตรฐานที่ปรากฎหน้าเว็บไซต์ กยท. ได้รับการอนุมัติโดยบอร์ดรับรองมาตรฐานน้ำยางพาราฯ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนกรณีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้ข้อเสนอแนะในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 เห็นควรให้มีการรับรองคุณภาพมาตรฐานวัสดุที่ใช้ในการทำถนนพาราซอยซีเมนต์ ซึ่งได้แก่ น้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม เนื่องจากเป็นวัสดุชนิดใหม่และมีผลโดยตรงต่อมาตรฐานหรือข้อกำหนดของถนนชนิดนี้ 

แล้วเพื่อให้หน่วยงานที่เป็นผู้จัดจ้างทำถนนเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพวัสดุ และต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ จนกระทั่งนำไปสู่การประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฯ จำนวน 3 บริษัท ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการหลายรายเกิดความสับสนในเรื่องข้อมูลนั้น 

สตง. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ดังนี้

หนึ่ง สตง. ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะช่วยทำให้ราคายางมีเสถียรภาพและส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในการประชุมดังกล่าว 

ผู้แทนของ สตง. ได้ให้ข้อคิดเห็นในส่วนที่เป็นข้อพึงระวังในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย รวมถึงการปฏิบัติตามคู่มือ หรือข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานในทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานของวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ เพื่อให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานการควบคุมคุณภาพและการรับรองมาตรฐานวัสดุ สำหรับงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (ยางพารา) 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักการ ทั้งในส่วนของขั้นตอนการควบคุมคุณภาพและรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม หลักเกณฑ์เฉพาะในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตและรับรองมาตรฐานวัสดุ ข้อกำหนดน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม วิธีการทดสอบน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม และการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานวัสดุก่อนนำไปใช้งาน เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในคู่มือฯ และสอดคล้องกับความเห็นของ สตง. ดังนั้นข้อความที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้น จึงคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

สอง ส่วนประเด็นเรื่องการประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสาร ผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ทางเว็บไซต์ของ กยท. จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการหลายรายเกิดความสับสนในเรื่องของข้อมูลนั้น ขอเรียนว่ากรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาการรับรองมาตรฐานน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ 

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของ สตง. พบว่า ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ถึง 26 มิถุนายน 2562 มีผู้ยื่นคำขอรับรองกระบวนการผลิตฯ ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว จำนวน 11 ราย โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุด ดังนี้

ชุดที่ 1 มีผู้ยื่นคำขอ จำนวน 5 ราย ได้รับการรับรอง 3 ราย ไม่รับรอง 2 ราย

ชุดที่ 2 มีผู้ยื่นคำขอ จำนวน 4 ราย อยู่ระหว่างการส่งตัวอย่างทดสอบและรอผลทดสอบทั้ง 3 ราย คาดว่าจะได้ผลการตรวจสอบประมาณวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ส่วนอีก 1 ราย ยังไม่แจ้งกำหนดการให้เข้าตรวจ

ชุดที่ 3 มีผู้ยื่นคำขอ 2 ราย โดยกำหนดการเข้าตรวจในวันที่ 18 และ 30 กรกฎาคม 2562  

ทั้งนี้ สตง. จะได้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามผลเพื่อเป็นข้อมูลประกอ��การตรวจสอบในกรณีดังกล่าวต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :