การขึ้นภาษีการขาย หรือภาษีสินค้าอุปโภคบริโภค ที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน พยายามผลักดันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จหลังได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาญี่ปุ่นให้บังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา และสื่อหลายสำนักเรียกนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ว่า 'อาเบะโนมิกส์' (Abenomics)
แม้ว่ามาตรการนี้จะถูกประชาสัมพันธ์ล่วงหน้ามาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทั้งยังถูกเลื่อนการพิจารณาบังคับใช้ถึงสองครั้ง แต่เมื่อบังคับใช้จริงก็ยังเกิดผลกระทบอยู่บ้าง
'นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว' รายงานว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากหลั่งไหลไปยังห้างสรรพสินค้าเพื่อจับจ่ายใช้สอยข้าวของไปกักตุนช่วงก่อนวันที่ 1 ตุลาคม เพราะไม่อยากเสียเงินเพิ่มในการซื้อสินค้าที่บวกภาษีจาก 8 เป็น 10 เปอร์เซ็นต์
ห้างโยโดบาชิ ซึ่งเป็นแหล่งขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ออกมาสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นผลจากมาตรการนี้ว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไปซื้อสินค้าที่สาขาต่างๆ ของโยโดบาชิ ช่วงส่งท้ายเดือนกันยายน ทำให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงกล้อง และทีวีดิจิทัล ซึ่งกำลังจะเปิดตัวสินค้าตัวใหม่ช่วงปลายปี วิตกกังวลว่า การที่ประชาชนหันไปซื้อสินค้ากันเป็นจำนวนมากช่วงก่อนขึ้นภาษี คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้าในอนาคต
ประชาชนญี่ปุ่นบางรายให้สัมภาษณ์สื่อว่า พวกเขากักตุนสินค้าในชีวิตประจำวันเอาไว้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู หรือแม้แต่กระดาษชำระ เพราะไม่อยากจะจ่ายเงินแพงกว่าเดิม แต่คนญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่งก็ไม่เห็นว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบมากนัก เพราะเป็นการขึ้นภาษี 2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2014 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นขึ้นภาษีการขายจาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่ายังไม่มากเท่าครั้งก่อน จึงคิดว่าน่าจะปรับตัวรับมือกันได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการผ่อนผันเพื่อแบ่งแบาภาระประชาชน เช่น เสนอให้มี 'อัตราการเก็บภาษี' ที่หลากหลาย รวมถึงรับปากว่าจะอุดหนุนร้านค้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น เพื่อลดอัตราค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่างๆ ในระบบ โดยกรณีของร้านอาหาร ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อสินค้ากลับไปรับประทานที่บ้าน และจ่ายค่าอาหารที่บวกภาษีเพิ่มในอัตรา 8 เปอร์เซ็นต์เท่าเดิม หรือจะรับประทานอาหารที่ร้าน แต่ต้องจ่ายค่าอาหารรวมภาษีที่ขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว
ที่ผ่านมา นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องปรับขึ้นภาษีการขาย เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนด้านสุขภาพที่รัฐบาลต้องใช้อุดหนุนประชากรในสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น เพราะต้นทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับอายุเฉลี่ยของประชากรญี่ปุ่นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเตือนญี่ปุ่นว่า มาตรการนี้บังคับใช้ในเวลาที่ไม่เหมาะสมนัก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และเสี่ยงจะทำให้ญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นหลังรัฐบาลขึ้นภาษีเมื่อปี 2014
ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค ออกมาสะท้อนความยากลำบากในการปรับตัวรับมือกับการขึ้นภาษีครั้งนี้ โดยรอยเตอร์สรายงานว่า กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ถูกขอความร่วมมือจากรัฐบาล ให้ติดตั้งอุปกรณ์ชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นลดการใช้เงินสด เพราะนอกจากจะช่วยให้การทำธุรกรรมต่างๆ ตรวจสอบได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้รัฐบาลลดต้นทุนด้านนี้ลงอีกด้วย
ทว่า ผู้ประกอบการรายย่อยบอกว่า อุปกรณ์ที่ต้องซื้อเพิ่ม ถือเป็นการลงทุนที่ไม่รู้ว่าจะได้กำไรคืนมาหรือไม่ เพราะการเก็บภาษีเพิ่มอาจทำให้คนประหยัดมากขึ้น และไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอยอีกระยะหนึ่งเลยก็เป็นได้
จากกรณีดังกล่าว นายรัฐมนตรีอาเบะยืนยันว่า รัฐบาลของเขาจะติดตามสถานการณ์หลังขึ้นภาษีอย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ย้ำว่า การขึ้นภาษีการขายครั้งนี้น่าจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5.7 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.58 ล้านล้านบาท
รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าจะนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ อีกส่วนหนึ่งจะนำไปส่งเสริมระบบการศึกษาของเยาวชนก่อนวัยเรียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: