ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์เตือนกลุ่มวัยทำงานเสี่ยงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ มีนิสัยกลั้นปัสสาวะ

นพ. ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมี สาเหตุใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ เช่น เชื้ออีโคไล ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะมีอยู่มากบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก สามารถปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะและเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะได้ 

โดยโรคนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่า และอยู่ใกล้ทวารหนัก เชื้อโรคจึงเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่า ส่วนช่วงอายุที่พบโรคนี้มาก คือ ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ปัจจัยสำคัญที่พบบ่อย คือเกิดจากการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จึงทำให้เกิดนิสัยกลั้นปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี 

อาการของโรค คือ ถ่ายปัสสาวะกะปริดกระปรอย รู้สึกปวดขัด หรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ โดยเฉพาะตอนถ่ายปัสสาวะสุด บางรายจะมีเลือดปนในปัสสาวะ ปวดบริเวณเอว ท้องน้อย เข้าห้องน้ำบ่อยๆ ชั่วโมงละหลายครั้ง และมีอาการคล้ายปัสสาวะไม่สุดอยู่ตลอดเวลา

ด้าน นพ. มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนมากโรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาเชื้อโรคอาจลุกลามไปที่ไตทำให้กรวยไตอักเสบได้ และถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนได้ ผู้ที่มีอาการหรือสงสัยว่าตนเองเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต้องรีบพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโรคโดยดูจากอาการ ตรวจปัสสาวะ หรืออาจจะตรวจในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม 

การรักษาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ หรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มาก อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อขับเชื้อออกจากปัสสาวะ ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นใน 5-7 วันหลังรับยา ในกรณีผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่ดีขึ้น หลังจากได้รับการรักษาในครั้งแรก ควรรีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัด ไม่ควรรอดูอาการด้วยตัวเองหรือซื้อยามารับประทานเอง 

สำหรับผู้ป่วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและรักษาหายแล้ว ควรดูแลตัวเองป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยการดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ ควรถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด ไม่กลั้นปัสสาวะและควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อลดการติดเชื้อ

Photo by Andrew Neel on Unsplash