เพื่อจะชนะการเลือกตั้งในปี 2562 ให้ได้ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องหันมาทำงานในเชิงเทคนิคมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การปรากฎตัวของพรรคการเมืองในแบรนด์ทักษิณ ที่แตกพรรคเล็กพรรคน้อยออกไปอีกสามถึงสี่พรรค จัดเป็นพรรคตระกูล “เพื่อ” อันได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ ผนวกด้วยพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอีก ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย
จตุพร วิเคราะห์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบให้รวมกันแพ้ แยกกันชนะ ซึ่งพรรคเพื่อชาติจะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มนปช.ที่ไม่มีพื้นที่ในพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเข้าไปในรัฐสภา
จะอ่านการเดินเกมส์นี้ เป็นการทำงานในเชิงเทคนิคเพื่อมุ่งหวังชนะการเลือกตั้งก็ได้ แต่จะอ่านว่าจะเป็นความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมืองตลอดสี่ปีของ คสช.ก็ได้ ?
เหมือนกับอีกกรณีที่ พรรคอนาคตใหม่ ได้รับโทรศัพท์จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ห้ามพรรครับบริจาคเงิน เนื่องจากถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ขัดคำสั่ง คสช.
ตัวอย่างสินค้าเพื่อระดมทุนของพรรคอนาคตใหม่ ในเว็บไซต์ของพรรค ระบุว่า “สินค้าอนาคตใหม่ไม่อาจดำเนินการขายในระบบออนไลน์ได้อย่างที่วางแผนไว้แต่แรก เนื่องจากระเบียบ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองทำธุรกิจค้าขายทางสื่อออนไลน์ พรรคอนาคตใหม่จึงต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้” ล่าสุด สินค้าที่ระลึกของพรรคถูกห้ามขาย
“กกต.ได้มีการออกหนังสือเวียนแจ้งให้พรรคการเมืองทราบว่าให้รับเงินบริจาคได้แค่จากกรรมการบริหารพรรค ในจำนวนเงินเท่าที่จำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย เป็นการบังคับใช้กับพรรคการเมืองเดิมแต่ก็ใช้กับพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่เช่นกัน และขณะนี้แม้จะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่แล้ว แต่ประกาศดังกล่าวยังมีผลอยู่ พรรคอนค.เป็นพรรคที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่และไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว อาจจะไม่ทราบการดำเนินการเกี่ยวกับการรับเงินบริจาค”
ทั้งหมดนี้ คือภาพสะท้อนความล้มเหลวของ คสช.ในการปฏิรูปการเมืองตลอดสี่ปีที่ผ่านมา
จะสร้างสถาบันการเมือง
หรือทำลายสถาบันการเมือง ?
ไม่เพียง แช่เข็งพรรคการเมือง ผ่านการออกแบบระบบการเลือกตั้ง ให้ดูยุ่งยาก ซับซ้อนและไม่เป็นประโยชน์ต่อการพรรคการเมืองใหญ่ หรือ พรรคการเมืองแบรนด์ชินวัตร
ไม่เพียงตัดขาพรรคอนาคตใหม่ ไม่ให้ได้เกิดในทางการเมืองอย่างราบรื่น ด้วยการโทรศัพท์หาเพื่อแจ้งห้ามขายสินค้าระดมทุน ห้ามรับเงินบริจาคเข้าพรรคการเมือง
แต่เมื่อย้อนรอยกลับไป จะพบว่าสี่ปีที่ผ่านมา คสช.ปฏิรูปการเมืองมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าล้มเหลวอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่ออกแบบมา เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ไม่รวมถึงว่า แม้ผู้มีอำนาจจะอ้างได้ว่า ผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่ก็เป็นประชามติแบบจอมปลอม ที่มีประชาชนถูกคุมขัง เพียงเพราะออกมาตั้งคำถามถึงตัวร่างรัฐธรรมูญ
ที่ร้ายกาจยิ่งกว่า คือ การออกแบบกลไกเพื่อให้ คนของ คสช.ได้ดื่มด่ำในอำนาจต่อไป ผ่านการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ 20 ปี (2561-2580) ส่งผลให้รัฐบาลใดก็ตาม เมื่อได้รับชัยชนะจากประชาชนทั้งประเทศเข้ามาบริหารแผ่นดิน ก็จะต้องปฏิบัติตามเส้นทางที่ คสช.ได้วางไว้
“ไอลอว์” หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน วิจารณ์ชัดว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นการดำเนินการ เป็นการออกแบบ ของคนเพียงหยิบมือเดียว “อาจกล่าวได้ว่าหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ คสช. ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การวางอนาคตของชาติ แต่เป็นข้ออ้างเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.”
“หากหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า คสช. สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลดังที่ตั้งใจไว้ กลไกเหล่านี้ก็จะคอยปกป้องคุ้มครอง "ระบอบ คสช." นี้ต่อไป แต่หากรัฐบาลหน้าไม่ใช่รัฐบาลจาก คสช. บุคคลที่ คสช. แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ ก็จะอาศัยยุทธศาสตร์ชาติเป็นอาวุธควบคุมรัฐบาลหน้าให้อยู่โอวาท หรือถ้าควบคุมไม่อยู่ก็มีอำนาจพอล้มรัฐบาลนั้นได้”
นั่นคือเสียงจากผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามการออกกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วาระเร้นของผู้มีอำนาจ อยู่ที่การทำให้สถาบันในทางการเมืองอ่อนแอ
ก่อนเลือกตั้ง คือความพยายามทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ปรากฎการณ์แบบแตกพรรคอะไหล่ และห้ามระดมทุน คือตัวอย่างที่สำคัญ
หลังเลือกตั้ง คือความพยายามทำให้รัฐบาลใหม่อ่อนแอ เพราะ มียุทธศาสตร์ชาติคอยกำกับทิศทางรัฐบาลใหม่
เมื่อเข้าสู่อำนาจในปี 2557 คสช.ตั้งเป้าไว้อย่างดี ว่าจะมาปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จ
บรรทัดสุดท้ายของการปฏิรูปการเมืองตลอดสี่ปี เฉลยแล้ววันนี้ คือ ทำให้สถาบันทางการเมือง ตั้งแต่พรรคการเมือง รัฐบาล เกิดความอ่อนแอ ส่วนที่จะเข้มแข็งไปข้างหน้า คือ คสช.ในร่างทรงผ่านกลไกพิสดารต่างๆ
คำถาม “ปิยบุตร” ต่อ คสช.
คำถามของ “ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จึงสำคัญด้วยเหตุนี้
คสช. นำการเมืองไทย สู่การเมืองแบบเก่า : “ไม่ให้รับบริจาค ถ้าไม่ให้ขายของที่ระลึกระดมทุน แล้วอย่างนี้พรรคการเมืองเกิดใหม่จะมีรายได้จากไหนจัดกิจกรรม หรือแม้แต่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะให้กลับไปสู่ “การเมืองแบบเก่า” ที่นายทุนใหญ่ทุ่มเงินมหาศาล เป็นเจ้าของพรรค มีอำนาจสิทธิขาดเหนือสมาชิกคนอื่นๆ อย่างนั้นหรือ”
กกต. ต้องรักษาเกียรติภูมิของตัวเอง : “กกต.ต้องใช้กฎหมายสนับสนุนพรรคการเมือง ไม่ใช่ตีความกฎหมายเพื่อสกัดกั้นพรรคการเมือง กกต.จะมีอยู่ต่อไป แม้ว่า คสช.ไปแล้ว ดังนั้น ต้องรักษาเกียรติภูมิของตัวเอง จำเป็นต้องพิจารณาตัวเองใหม่ว่า จะเป็นองค์กรของฝ่ายประชาธิปไตยหรือเป็นอุปสรรคต่อพรรคการ”
พร้อมเดินหน้าสร้างบรรทัดฐานการเมืองไทย : พรรคอนาคตใหม่เรียกร้องว่า “หากไม่ให้รับบริจาคจากบุคคลทั่วไป ให้ กกต.มีหนังสือออกคำสั่งให้ชัดว่าห้ามพรรคการเมืองรับบริจาค ซึ่งพรรคอนาคตใหม่จะขอใช้สิทธิ์ฟ้องศาลเพิกถอนคำสั่งนี้”
ต้องเตือนผู้มีอำนาจว่า อย่ามุ่งแต่จะขจัดพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแบบชนิดหน้ามืดตามัว มิเช่นนั้น การใดๆ ที่จะปรากฎขึ้นข้างหน้า จะขาดความชอบธรรม และไม่สง่างามในทางการเมือง
ถ้าผู้มีอำนาจมุ่งขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผ่านวิธีที่ไม่สง่างามในทางการเมือง ก็ทำให้ภาพจำ คสช. จะกลายเป็น ทหารที่อาสามาปฏิรูปการเมือง แต่ทำล้มเหลวเสียเอง ทั้งล้มเหลวที่จะปฏิรูปการเมืองให้เกิดสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง ไปจนถึง ล้มเหลว เพราะเปลี่ยนสถานะจากกรรมการกลาง มาเป็นนักฟุตบอลเสียเอง