ไม่พบผลการค้นหา
ทอท.ชี้แจงดราม่าผลตัดสินบริษัทสำรวจออกแบบ 'อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สุวรรณภูมิ' ย้ำ 'SA Group' ผ่านเกณฑ์ได้คะแนนอันดับ 1 แต่ขาดคุณสมบัติเนื่องจากไม่มีเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา บอร์ดจึงเคาะเลือก 'ดีบีเอแอลพี-นิคเคน เซคเค'

สืบเนื่องจากในโซเชียลมีเดียวิพากษ์์วิจารณ์เรื่องผลการประกวดและว่าจ้างบริษัทที่เสนอราคาเป็นอันดับ 2 สำหรับโครงการก่อสร้าง 'อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ' เนื่องจากผู้เสนอราคาที่ชนะอันดับ 1 ขาดเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา

ในวันนี้ (23 ส.ค.) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เผยแพร่คำชี้แจง ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. เวลา 9.00 น. ณ สำนักงานใหญ่ ทอท ซึ่งมีนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติ อนุมัติให้ ทอท.จ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิคเคน เซคเค หรือ DBALP-NIKKEN SEKKEI เป็นผู้รับจ้าง งานสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เป็นเงิน 329,560,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ทอท.ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างงานจ้างสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยวิธีประกวดแบบ วงเงินการจัดหา 329,569,514.44 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามระเบียบและข้อกำหนดของ ทอท.ว่าด้วยการพัสดุ (เนื่องจากในวันที่ออกประกาศประกวดแบบ กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐยังไม่มีผลบังคับใช้) โดย ทอท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาพัสดุงานจ้างสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ.ประกอบด้วย พนักงาน ทอท.จำนวน 4 คน โดยมีผู้แทนจากสมาคมสถาปนิกสยาม 1 คน ร่วมเป็นกรรมการ และมีผู้แทนจากสภาสถาปนิกจำนวน 2 คน เข้าร่วมสังเกตุการณ์ และเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2560  

ขณะที่ มีผู้ยื่นซองประมูลจำนวนรวม 4 ราย ได้แก่ 

(1) กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสอี-เออาร์เจ (กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก) ประกอบด้วย บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด บริษัท อีเอ็มเอส คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด บริษัท มัลติ ซิสเต็ม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท เออาร์เจ สตูดิโอ จำกัด บริษัท นิคเคน เซคเค จำกัด (NIKKEN SEKKEI LTD) 

(2) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท เดอะ โบว์มอนท์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ประกอบด้วย บริษัท เดอะ โบว์มอนท์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่ลแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีอีแอล เอ็นจีเนียส์ จำกัด บริษัท ซีอีแอล อาร์คิเทคส์ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด บริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ Egis Avia และ Egis Rail S.A. 

(3) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท วาร์ดา แอสโซซิเอทส์ จำกัด ประกอบด้วย บริษัท วาร์ดา แอสโซซิเอทส์ จำกัด บริษัท ไวส โปรเจ็คคอลซัลติ้ง จำกัด และบริษัท จงลิม อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด 

(4) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group ประกอบด้วย บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ไซน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท อะซูซา เซคเคอิ จำกัด และบริษัท สกายปาร์ตี้ จำกัด

คณะกรรมการจัดหาพัสดุฯ ได้ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่นซองประมูลทั้ง 4 ราย ซึ่งตามข้อกำหนดและรายละเอียดงานจ้างฯ (TOR) ข้อ 14.5 กำหนดให้ผู้ผ่านข้อเสนอเทคนิคจะต้องได้รับคะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป และจัดลำดับเพื่อเชิญมาต่อรองราคาต่อไป โดยทั้ง 4 กลุ่มบริษัทได้ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวตามลำดับคะแนนคือ 

ลำดับที่ 1 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group 

ลำดับที่ 2 กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิคเคน เซคเค 

ลำดับที่ 3 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท วาร์ดา แอสโซซิเอทส์ จำกัด 

ลำดับที่ 4 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท เดอะ โบว์มอนท์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด 

ทอท.เชิญ SA Group เปิดซองราคาเป็นรายแรก แต่ขาดเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา

โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 ทอท.ได้เชิญกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group ซึ่งได้คะแนนเทคนิคสูงเป็นลำดับแรกมาเปิดซองข้อเสนอด้านราคา แต่เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group มิได้ยื่นต้นฉบับใบเสนอราคาตามที่ ทอท.กำหนดใน TOR ข้อ 13.3.1 ซึ่งระบุว่า "ผู้เสนองานต้องใช้ ต้นฉบับใบเสนอราคา ที่ได้รับจาก ทอท.นี้เท่านั้น ใบเสนอราคานอกเหนือจากนี้จะไม่รับพิจารณาโดยเด็ดขาด" 

ทั้งนี้ สาเหตุที่ ทอท.ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ใน TOR เนื่องจากเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา เป็นเอกสารสำคัญที่ผู้เสนอราคาต้องใช้ในการเสนอราคา เพราะนอกจากจะมีข้อเสนอด้านราคา ซึ่งต้องระบุเป็นตัวเลขและตัวอักษรแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญอื่น ๆ ระบุไว้ ได้แก่ ระยะเวลายืนราคา คำรับรองว่าจะเริ่มทำงานตามสัญญาทันทีที่ได้รับแจ้งจาก ทอท.และจะส่งมอบงานตามเอกสารประกวดแบบภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยผู้มีอำนาจกระทำแทนจะต้องลงนามรับรองข้อเสนอดังกล่าว 

คณะกรรมการจัดหาพัสดุฯ จึงไม่พิจารณาเอกสารข้อเสนอราคาของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group

จากนั้น คณะกรรมการจัดหาพัสดุฯ จึงได้เชิญกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ซึ่งได้คะแนนเทคนิคสูงเป็นลำดับที่ 2 มาต่อรองราคาตามเงื่อนไขของข้อกำหนดและรายละเอียดงานจ้าง (TOR) ข้อ 14.6 ซึ่งกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ได้เสนอเอกสารข้อเสนอด้านราคามาครบถ้วนตามเงื่อนไขและข้อตกลงในการประมูลฯ และข้อกำหนดและรายละเอียดงานจ้างฯ (TOR) โดยเสนอราคาค่าออกแบบเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 349,000,000.-บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และคณะกรรมการจัดหาพัสดุฯ ได้ดำเนินการต่อรองราคาแล้ว 

กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ยินดีลดราคาให้คงเหลือค่าจ้างออกแบบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 329,560,000.-บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทอท.จึงได้นำเสนอคณะกรรมการ ทอท.เพื่อขออนุมัติผลการจัดจ้างดังกล่าว 

SA Group ร้องเรียนคณะกรรมการจัดหา ระบุว่าไม่ได้รับเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา

สำหรับกรณีที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group ได้มีหนังสือร้องเรียน ถึงคณะกรรมการจัดหาพัสดุฯ ลงวันที่ 15 และ 17 ส.ค. 2561 โดยมีสาระสำคัญว่า กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group มิได้รับเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา ในชุดเอกสารสำหรับการเสนองานจาก ทอท. และงานจัดจ้างสำรวจออกแบบซึ่งใช้เกณฑ์ตัดสินด้วยข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นหลัก การที่มิได้แนบเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา จึงไม่เป็นสาระสำคัญของข้อเสนอด้านราคา นั้น ทอท.ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 21 ส.ค. 2561 ชี้แจงข้อเท็จจริงให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group ทราบแล้วว่า การดำเนินงานของ ทอท.เป็นไปด้วยความรอบคอบและถูกต้อง รวมทั้งเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงการจัดหาฯ และ TOR แล้ว

สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ.ประกอบด้วย (1) งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A มีพื้นที่ประมาณ 348,000 ตารางเมตร เป็นอาคารแบบ Multi-Terminal สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งปรับปรุงลานจอดอากาศยานให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสารโดยมีหลุมจอดประมาณ 14 หลุมจอด

(2) งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน A, B และ C

(3) งานก่อสร้างอาคารบริการท่าอากาศยานครบวงจร (Airport Multiplex Building: AMB) ด้านทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่อาคารประมาณ 84,000 ตารางเมตร สามารถจอดรถยนต์ในอาคารได้ประมาณ 1,000 – 1,500 คัน และมีลานจอดรถยนต์ภายนอกอาคารอีกประมาณ 1,500 – 2,000 คัน

(4) งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ โดยเป็นระบบรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก (MTB) และอาคารเทียบเครื่องบิน A ในปัจจุบัน ไปยังอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และเชื่อมต่อการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link มีระยะทางรวมทั้งระบบยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร

(5) งานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี และเชื่อมต่อกับระบบของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน

(6) งานก่อสร้างระบบถนนภายในท่าอากาศยานเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้า-ออกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2

(7) งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการฯ 

ผู้รับจ้างมีระยะเวลาในการออกแบบ 10 เดือน คาดเริ่มก่อสร้างปลายปี 62

ทั้งนี้ เมื่อมีการลงนามในสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างจะมีระยะเวลาในการออกแบบ 10 เดือน จากนั้น ทอท.จะนำแบบไปประมูลงานก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 และแล้วเสร็จในปลายปี 2564 เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ.ได้อีก 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับประโยชน์จากระดับการให้บริการที่ดีของ ทสภ.จากการมีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอรองรับความต้องการ ทำให้มีความสะดวกสบายและรวดเร็วในการใช้บริการท่าอากาศยาน