นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับรางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร. ประจำปี พ.ศ. 2561 จำนวน 9 รางวัล ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ และเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้ส่วนราชการ และหนึ่งในนั้นคือ รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม ชื่อผลงาน “โครงการดูแลสุขภาพของชุมชนที่เกิดจากปัญหาหมอกและควัน : อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน” โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่
ชุมชนบ้านโฮ่งหลวง เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากมลพิษหมอกควัน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควันจำนวนมาก โดยพบว่ากลุ่มเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ส่วนโรคที่พบบ่อยเช่น โรคหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะการหายใจลำบากเฉียบพลัน หรือหอบหืดอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ได้หาทางแก้ไขปัญหาหมอกควันที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมาย คือ ชุมชนบ้านโฮ่งหลวง มีคุณภาพอากาศที่อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยดำเนินการจัดทำเอกสารคู่มือ “แนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกัน/รับมือภัยสุขภาพ จากผลกระทบปัญหาหมอกควัน ในพื้นที่ชุมชนบ้านโฮ่งหลวง” ดำเนินกิจกรรมการป้องกันโรคเชิงรุก โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมใน 3 ประเด็นหลัก (3 ม.) ได้แก่
1.ไม่เผา โดยขอความร่วมมือจากชุมชนในเรื่องการเผาขยะต่างๆ
2.ไม่เสี่ยง มีการดำเนินการสื่อสารความเสี่ยง แจ้งเตือน และให้ความรู้เรื่องมลพิษหมอกควัน แก่ประชาชนทุกระดับในชุมชน
3.ไม่ป่วย มีการดำเนินการป้องกันโรค การจัดการภัยสุขภาพและการป้องกันตนเอง ในสถานการณ์หมอกควัน
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการสำรวจสุขภาพทุกครัวเรือนตามรายชื่อที่ปรากฏในฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงในชุมชน และรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สื่อสารความเสี่ยง แจ้งเตือน เผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อสร้างองค์ความรู้ ความตระหนัก จิตสำนึก ในการป้องกันภัยสุขภาพและจัดการปัญหาหมอกควันที่มีความครอบคลุมทั้งมิติด้านสุขภาพและด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน ในพื้นที่ชุมชนบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
ด้าน นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ผลจากการดำเนินโครงการในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าสถานการณ์โรคที่อาจเกิดจากผลกระทบจากหมอกควันมีแนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง โดยข้อมูลโรคที่อาจเกิดจากผลกระทบจากหมอกควันในช่วงระหว่างเดือนม.ค. - เม.ย. 2558 กับปี 2560 เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด พบจำนวนผู้ป่วยจาก 675 ราย ลดลงเหลือ 626 ราย และโรคระบบทางเดินหายใจจาก 231 ราย ลดลงเหลือ 214 ราย เป็นต้น ซึ่งในพื้นที่จะได้มีการบูรณาการและร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาและผลกระทบกับประชาชน ต่อไป