คิดเป็นวงเงิน 207 ล้านบาทต่อปี คาดการณ์งบประมาณล่วงหน้า 5 ปี พุ่งถึง 1,035 ล้านบาท อย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ก่อให้เกิดคำถามคำโตต่อแวดวงยุติธรรมตามมาทันที
เมื่อคำอธิบายของการนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม ครั้งนี้ระบุว่า "เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาให้มีความรอบคอบยิ่งขึน จึงเป็นหลักประกันแก่ประชาชนว่า ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จะมีการพิพากษาเพื่ออำนวยความยุติธรรมรอบคอบให้แก่ประชาชนอย่างละเอียดรอบคอบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 193 วรรคสอง"
'เงินกับความยุติธรรม' มีผลสัมพันธ์กันจริงหรือไม่? เบี้ยประชุมที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกับความยุติธรรมอย่างไร
‘วอยซ์ ออนไลน์’ ถามความเห็นกับ 2 อดีตผู้พิพากษา นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนางสดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเล่าประสบการณ์ถึงร่างกฎหมายดังกล่าว
เริ่มจาก นางสดศรี สัตยธรรม มองว่า การให้เบี้ยประชุมศาลมีความจำเป็น ในอดีตวงการผู้พิพากษาก็เคยมีการเสนอเรื่องนี้กันมา จริงอยู่ที่เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่ก็อย่างที่ทราบกันดี การให้เงินและสิทธิประโยชน์นั้น ก็เป็นไปเพื่อให้ผู้พิพากษา หรือข้าราชการตุลาการ ทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่มีนอกมีใน จนมีผลกระทบต่อการพิจารณาคดี
“จึงอยากให้มองในแง่ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติง���นของผู้พิพากษา ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การเสนอให้เบี้ยประชุมศาลตามรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรเกินเลย มีการประมาณการรายได้ กำหนดเพดานไว้ชัดเจน ทั้ง 12 ศาลปีหนึ่งจะประชุมกัน 2 ครั้ง รวมกัน 24 ครั้งต่อปี วงเงินก็ถูกวางไว้ชัดเจน ประธาน 10,000 บาท รองประธาน 8,000 บาท เลขานุการและกรรมการ 6,000 บาท”
อดีต กกต. อธิบายต่อไปว่า หากเทียบกับสาขาวิชาชีพอื่นอย่าง ตำรวจหรือทหาร จะเห็นว่า เมื่อรวมรายได้และสิทธิประโยชน์แล้ว รายได้ของผู้พิพากษานั้น อาจน้อยกว่าเสียอีก ทั้งที่ความรับผิดชอบก็ต้องมีสูง ผู้พิพากษาแต่ละท่านต่างตระหนักถึงการพิพากษา ที่ต้องชี้เป็นชี้ตายคนๆหนึ่ง
(สดศรี สัตยธรรม)
“ผู้พิพากษาก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่อาจรับงานพิเศษนั่งเป็นบอร์ดในหน่วยงานใดๆได้ ต้องคงไว้ซึ่งความยุติธรรม ต่างไปจากหมอที่สามารถเปิดคลินิกหรือเข้าเวรในโรงพยาบาลเอกชน เพื่อมีรายได้พิเศษได้"
นางสดศรี ยังยกตัวอย่างสมัยเป็น กกต. เคยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน ผลที่ออกมาก็เห็นว่า กกต.ทำงานได้อย่างมีประสิททธิภาพขึ้น
ขณะที่ นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล เริ่มต้นว่า ตัวเองพ้นจากหน่วยงานด้านยุติธรรมมา 10 กว่าปีแล้ว ไม่ได้อิจฉากับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพียงแต่ขอบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ก่อนย้อนอดีตให้ฟังว่า จากประสบการณ์ในสมัยเป็นผู้พิพากษา การประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์และฎีกา ผู้พิพากษาไม่เคยได้รับเบี้ยประชุม
เพราะถือว่าเป็นงานในหน้าที่ ในการนำคำพิพากษาหรือข้อถกเถียงจากการพิจารณาคดี มาหารือเพื่อขอมติจากที่ประชุม ไม่ต่างจากการนั่งพิจารณาคดีแล้วกลับไปเขียนออกมาเป็นคำพิพากษา ในสมัยนั้นก็เคยมีข้อถกเถียงในเรื่องเบี้ยประชุมว่าควรได้รับหรือไม่ เพื่อนอดีตผู้พิพากษาบางท่านบางคนเขียนคำพิพากษาเก่งมาก ทั้งรวดเร็วและเป็นธรรม เดือนหนึ่งๆ สามารถเขียนได้หลายฉบับ
“แต่ท่านอดีตผู้พิพากษาเหล่านี้ ก็ปฏิเสธ ที่จะได้รับเงินตอบแทนพิเศษ เพราะมองว่านี่คือเรื่องปกติในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ที่ย่อมต้องอุทิศตนเพื่อประชาชนอยู่แล้ว”
(สมลักษณ์ จัดกระบวนพล)
แม้จะแตกต่างจากการประชุม คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่จะมีค่าตอบแทนพิเศษเป็นเบี้ยประชุมให้ เนื่องจากเป็นงานด้านบริหาร ที่นอกเหนือจากวงงานของศาลยุติธรรม ดังนั้นนางสมลักษณ์ จึงเห็นว่า อะไรที่เป็นหน้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับเงินพิเศษ
"ไม่เกี่ยวว่าต้องมีเงินและจึงจะมีความยุติธรรม ความยุติธรรมย่อมไม่ขึ้นกับตัวเงิน อุดมการณ์ของผู้พิพากษาคือ ความยุติธรรมและเที่ยงธรรม ไม่ใช่เงินดี สิ่งที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนจะไขว้เขว"
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า หากจะมองเรื่องค่าตอบแทน ผู้พิพากษาในสมัยนี้เงินเดือนก็ถือว่าสูง หากเทียบกับสมัยของตนเอง โดยแบ่งเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และรถประจำตำแหน่ง หากไม่เอารถ ก็สามารถเปลี่ยนได้เป็นเงินจำนวนหนึ่งได้อีก
ต่อข้อสงสัยว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวของ สนช.ในวาระที่ 2-3 ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมาย ควรเป็นอย่างไร นางสมลักษณ์ ระบุว่า
“ดิฉันมองว่า รายได้เหล่านี้ก็พอสมควรแล้วแก่ฐานานุรูปของผู้พิพากษา เงินกับการทำงานไม่ได้เป็นหลักประกันในการสร้างความยุติธรรม ผู้พิพากษารุ่นดิฉันอยู่ได้ด้วยเกียรติแห่งสามัญสำนึก”
อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ย้ำทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง