ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ 'นิด้าโพล' เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง 'EEC ใครได้ประโยชน์ ?' ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 – 23 มี.ค. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษา และทุกอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,501 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับรู้หรือได้ยินข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรื��� อีอีซี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.90 ระบุว่า ไม่เคยรับรู้/ไม่เคยได้ยิน และร้อยละ 43.10 ระบุว่า เคยรับรู้/เคยได้ยิน
โดยร้อยละ 69.81 ที่บอกว่า เคยรับรู้หรือได้ยิน รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโทรทัศน์ รองลงมาร้อยละ 9.84 จากโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ และอื่นๆ ส่วนร้อยละ 6.12 ระบุว่า จากญาติพี่น้อง/เพื่อน/คนรู้จัก ร้อยละ 5.05 จากวิทยุ ร้อยละ 4.12 จากเว็บไซต์ ร้อยละ 3.72 จากหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 0.93 จากป้ายประกาศ/แผ่นพับ/ใบปลิว และร้อยละ 0.40 จากนิตยสาร
เมื่อถามถึงความหมายของ 'โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)' ว่าคืออะไร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51 ระบุว่า เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา มีรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง มอเตอร์เวย์ รองลงมา ร้อยละ 48.53 ระบุว่า เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ในบริเวณพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ร้อยละ 37.56 ระบุว่า เป็นโครงการเพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย ร้อยละ 31.38 ระบุว่า เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 25.81 ระบุว่า เป็นการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การพัฒนาเมือง ทั้งการท่องเที่ยวและสาธารณสุข ร้อยละ 24.57 ระบุว่า เป็นการพัฒนาด้านพลังงานและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 5.87 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ประชาชนคาดหวัง อีอีซี จะทำให้เศรษฐกิจการค้าการลงทุนดีขึ้น
โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 28.75 ระบุว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากอีอีซีมากที่สุดคือ ประชาชนทั้งประเทศ รองลงมาเป็นประชาชนในพื้นที่ที่มีโครงการร้อยละ 21.79 ส่วน ร้อยละ 19.32 คาดว่าจะเป็นนักลงทุนจากต่างชาติได้ประโยชน์ ร้อยละ 11.90 ระบุว่า รัฐบาล ร้อยละ 8.19 ระบุว่า นักการเมือง ร้อยละ 5.87 ระบุว่า ภาคเอกชนในประเทศ และร้อยละ 4.17 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคาดหวังของประชาชนจากโครงการอีอีซี ประชาชนร้อยละ 38.05 ระบุว่า จะทำให้เศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 21.53 ระบุว่า ให้ประเทศได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ร้อยละ 10.62 ระบุว่า ให้การคมนาคม ระบบขนส่งมีประสิทธิภาพและสะดวกสบาย มากยิ่งขึ้น ทำให้ขนส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้น ร้อยละ 8.55 ระบุว่า ให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้ ร้อยละ 8.26 ระบุว่า คนไทยจะได้มีงานทำ ลดปัญหาการว่างงาน ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ร้อยละ 5.31 ระบุว่า คาดหวังให้โครงการนี้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ร้อยละ 2.95 ระบุว่า ให้มีโครงการแบบนี้ทุกภูมิภาคเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างทั่วถึง ร้อยละ 2.06 ระบุว่า ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทำงานด้วยความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 1.77 ระบุว่า เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของประเทศ และร้อยละ 0.88 ระบุว่า ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเนือ
ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวเป็นคำถามเกี่ยวกับโครงการอีอีซี โดยสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ 'นิด้าโพล' ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) ตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
ดังนั้น เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 33.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือร้อยละ 18.05 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ร้อยละ 13.99 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 9.93 และมีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลางร้อยละ 9.93 ส่วนเพศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยะล 52.56 เป็นเพศชาย ร้อยละ 47.10 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.33 เป็นเพศทางเลือก
กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 6.93 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.12 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.79 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.44 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 21.19 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.53 ไม่ระบุอายุ ด้านศาสนา นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 91.47 ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 3.93 ศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ ร้อยละ 1.33 และร้อยละ 3.26 ไม่ระบุศาสนา
อีกทั้งกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 21.99 ระบุว่า สถานภาพโสด ร้อยละ 69.95 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.46 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.60 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 30.05 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.51 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.33 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.12 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.33 จบการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.66 ไม่ระบุการศึกษา
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.99 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.06 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 18.59 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.86 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.79 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.05 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.73 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.20 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 4.73 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 15.99 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 20.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.53 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.20 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.19 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.86 ไม่ระบุรายได้