นักกิจกรรมกรีนพีซ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และส่งมอบนาฬิกาทรายที่บรรจุฝุ่นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 หลังจากที่เก็บรวบรวมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติมลพิษ
โดยมีตัวแทนนายกรัฐมนตรีรับมอบ ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หน้าทำเนียบรัฐบาล
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการรณรงค์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่ามลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อชีวิต ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมถึงเมืองใหญ่อย่างกทม. จึงเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะต้องสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 และระบบการรายงานคุณภาพอากาศที่ทันสมัย รวมถึงการแก้ปัญหาอย่างจริงจังไม่ใช่การยื้อเวลาออกไป
ทั้งนี้ กรีนพีซได้ทำการจัดลำดับเมืองที่เผชิญกับมลพิษ PM2.5 ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2558 โดยพบว่าในพื้นที่เมืองอยู่ในระดับแย่และมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่เมืองส่วนใหญ่รวมถึงกทม.มีความเข้มข้น PM 2.5 เฉลี่ยรายปีเกินมาตรฐาน ขณะที่บรรยากาศทั่วไปและทุกเมืองอยู่ในระดับเกินมาตรฐานกำหนดขององค์การอนามัยโลก
ในส่วนของรัฐบาลต้องแก้ไขโดยตั้งเป้าหมายการลดการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 อย่างน้อย 30% ตามวิสัยทัศน์ 'อากาศสะอาดเพื่อเราทุกคน' ที่รัฐบาลตั้งไว้ในร่างแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงเพิ่มเป้าหมายการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษ และติดตามตรวจสอบความเข้มข้นของฝุ่นละออง พร้อมควบคุมและลดการปล่อยปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิด เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญานิมาตะว่าด้วยปรอท
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ได้ระดมเจ้าหน้าที่และรถฉีดน้ำขึ้นฟ้า เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่
ขณะที่ รศ.ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ช่วยทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจมีผลในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เพราะขนาดของหยดน้ำ จะต้องสัมพันธ์กับขนาดของฝุ่นละอองด้วย จึงจะสามารถดักจับฝุ่นละอองให้ตกลงพื้นได้
อ่านเพิ่มเติม