กฎหมายควบคุมเงินดิจิตอล 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และพ.ร.ก. พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เร่งประกาศหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ เพื่อควบคุมดูแล พร้อมกับให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินส่วนแบ่งของกําไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล ซึ่งประเด็นเหล่านี้ คนในแวดวงเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี่ไทย ต่างมีมุมมองเห็นด้วยเห็นต่างหลายด้าน
'ศิวนัส ยามดี' ผู้ก่อตั้ง บริษัท คอยน์ แอสเซท จำกัด ผู้ให้บริการการซื้อขายเงินดิจิทัลในประเทศไทย เปิดเผยว่า การออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีทั้งมุมที่ดีและมุมที่ไม่ดี
ในมุมที่ดี คือ การสร้างความชัดเจนให้กับไอซีโอและป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน เพราะที่ผ่านมา พบว่า การระดมทุนไอซีโอ 100 ราย กว่าร้อยละ 90 เป็นการหลอกลวง
"กฏหมายที่ออกมาดูแลไอซีโอเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมา เรามีความเป็นห่วงเช่นเดียวกับภาครัฐ จากการติดตามข้อมูลเราพบว่าไอซีโอ 100 ราย มีกว่า 90 ราย ที่เข้าข่ายหลอกลวง ดังนั้นการออกกฏหมายทำให้การหลอกลวงนั้นทำได้ยากขึ้น และสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนให้กับผู้ลงทุน" นายศิวนัส กล่าว
อีกด้านหนึ่ง คาดว่า มีสิ่งที่เป็นปัญหา คือ การเก็บภาษีจากการระดมทุน ซึ่งไม่ได้มองประเด็นในแง่ผลกระทบกับนักลงทุนที่จ่ายภาษีเพิ่มขึ้น แต่มองในแง่การจัดเก็บ จะจัดเก็บอย่างไร ให้ตัวกลางเป็นผู้ดำเนินการหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอร่างประกาศที่จะรับฟังความเห็นจากผู้ลงทุนอีกครั้ง จึงจะสามารถระบุได้ว่าจะต้องทำอย่างไร
'ศิวนัส' กล่าวด้วยว่า ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจตัวกลางการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 'คอยน์ แอสเซท' จึงได้ติดตามข้อมูลและทำการสำรวจบริษัทแล้วพบว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาด้านใดเพิ่มเติม เพราะบริษัทได้มาตรฐาน ISO เหนือกว่าข้อกำหนดของ ก.ล.ต. เพียงแต่รอระยะเวลาการเปิดให้เข้าลงทะเบียนเท่านั้น
หวั่นผลในทางปฏิบัติ เมื่อเริ่มหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15
'วิทวัส บุญญภิญโญ' ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมระบบ บริษัท ซีมายน์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด หรือ ZMINE ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า การออก พ.ร.ก.เงินดิจิทัลของภาครัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สร้างความชัดเจนกับผู้ลงทุนและดูแลการระดมทุนผ่านไอซีโอให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งผลกระทบกับคน 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ต้องการซื้อขายเหรียญ และกลุ่มผู้ขุดเหรียญ
โดยในกลุ่มคนซื้อขาย หรือเทรดเหรียญ หลังจาก พ.ร.ก. ออกมาก็จะโดนเก็บภาษีร้อยละ 15 ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนลดลง ขณะที่กลุ่มที่เป็นผู้ขุดเหรียญ ในตอนนี้ยังประเมินได้ยาก เพราะการขุดเหรียญดิจิทัลไม่สามารถแสดงต้นทุนที่แท้จริงได้ว่าจำนวนเท่าไหร่ และจะต้องจ่ายภาษีอย่างไร
ส่วนแนวทางการทำงานของ ซีมายน์ หลังจากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ บริษัทก็จะหยุดการออกเหรียญใหม่ และให้ฝ่ายกฏหมายติดตามการร่างประกาศที่สำนักงาน ก.ล.ตจะออกมาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาประเมินผลกระทบให้กับบริษัท
อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อตลาดการซื้อขายเหรียญดิจิทัลในประเทศไทย ตอนนี้มูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน หลังจากที่ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มบังคับใช้
นักลงทุนเทรดเหรียญลดลง หลัง พ.ร.ก. ประกาศใช้
'ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเจเวนเจอร์ส ผู้ออก ICO ที่ชื่อ 'เจฟินคอยน์' เปิดเผยว่า พ.ร.ก.ที่ออกมาบังคับใช้ล่าสุด จะทำให้นักลงทุนที่ซื้อขายและบริษัทที่ออกโทเคนดิจิทัลและและคริปโทเคอร์เรนซี่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนหันไปซื้อขายเงินดิจิทัลในต่างประเทศ เช่นเดียวกับสตาร์ทอัพที่จะออกไประดมทุนในต่างประเทศ
"นโยบายการออกเจฟินคอยน์ของบริษัท คือ จะยังนำเหรียญมาซื้อขายในตลาดประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลรายอื่นๆ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก"
อย่างไรก็ตาม หลังจาก พ.ร.ก. ดังกล่าวประกาศออกมา มูลค่าการซื้อขายเหรียญดิจิทัลก็ลดลง เนื่องจากนักลงทุนยังไม่รู้ว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 นั้น จะคิดกำไรอย่างไร และวิธีหักภาษีจะทำอย่างไร จึงต้องรอความชัดเจนในด้านนโยบายอีกครั้ง
ชี้กฎหมายใหม่หวังตัดตอนระดมทุนผ่าน ICO จับตาหนีระดมทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ด้านมุมมองของผู้ระดมทุนไอซีโอรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวเหมือนกับการตัดตอนไอซีโอไทยไม่ให้เกิดขึ้น เพราะจากการพิจารณาจะพบว่า ไทยมีการเก็บภาษีถึงร้อยละ 15 ขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่มีการเก็บภาษี ดังนั้น จึงอาจทำให้ผู้ออกไอซีโอไทยหนีไประดมทุนในต่างประเทศได้
"พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นการตัดตอนไอซีโอไทยไม่ให้เกิดขึ้น และจะกระทบกับสตาร์ทอัพ เพราะสตาร์ทอัพมีเพียงไอเดีย ไม่มีเงินทุน ที่ผ่านมา การระดมผ่านการออกเหรียญหรือ ไอซีโอ จึงเป็นการตอบโจทย์สตาร์ทอัพให้เข้าถึงเงินทุนได้ แต่การคุมไอซีโออย่างตอนนี้ของทางการไทย จะทำให้สตาร์ทอัพเลือกไประดมทุนในต่างประเทศแทน"
ทั้งนี้ ผู้ระดมทุนต้องการรูปแบบการระดมทุนเหมือนกับไอพีโอ หรือการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก โดยที่ไม่ต้องมีภาระภาษี เพราะการระดมทุนของทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน เป็นการระดมทุนเพื่อทำธุรกิจทั้งคู่
นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า ในปัจจุบัน คือ เริ่มเห็นไอซีโอไทย ไประดมทุนในเกาะบริติซเวอร์จิ้น ที่ไม่มีการเก็บภาษีและเปิดกว้างให้กับการลงทุนไอซีโอ และใช้เงินส่วนตัวเข้าไปซื้อเหรียญทั้งหมด ก่อนที่จะปล่อยข่าวในประเทศไทยว่าเหรียญดิจิทัลของบริษัทขาย���มดแล้ว และนำเข้ามาขายให้กับนักลงทุนไทยเพื่อถอนทุนคืน
"การทำแบบนี้ทำให้การตรวจสอบการซื้อขายทำไม่ได้ และไม่รู้ว่าเงินที่ได้รับการระดมทุนนั้นนำไปลงทุนจริงหรือไม่ และเหมือนกับการหลอกลวงนักลงทุน ซึ่งการเปิดกว้างให้ไอซีโอไทยระดมทุนในประเทศจะช่วยให้การตรวจสอบทำได้ดีกว่านี้"
คลังหวังออกกฎดูแลผู้ลงทุน พร้อมเป็นทางเลือกระดมทุน 'สตาร์ทอัพ'
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เกิดขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อมิให้มีการนำสินทรัพย์ไปกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชน หรือเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม
อีกด้านหนึ่ง เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ ให้มีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมถึงประชาชนผู้เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอในการตัดสินใจลงทุน เพิ่มทางเลือกประชาชน และเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง รวมทั้งการระดมทุนด้วยการเสนอขายจะเป็นช่องทางในการช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
นายรพี สุจริต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างร่างประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันอื่นๆ เพื่อการกำกับดูแลที่ครอบคลุมธุรกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลให้ชัดเจนและนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมโดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
"แต่การลงทุน โทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีในต่างประเทศจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้"
ก.ล.ต.เปิดรับฟังความเห็นก่อนออกเกณฑ์ภายใต้กฎหมายใหม่
ล่าสุด ก.ล.ต. ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริง) หลักการและร่างประกาศภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจนถึงวันที่ 30 พ.ค.นี้ เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ไอซีโอ) และการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่เป็นอุปสรรค ต่อผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะที่มีกลไกดูแลผู้ลงทุนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กำหนดว่าผู้ลงทุนรายย่อยจะลงทุนในโทเคนดิจิทัลได้ไม่เกินรายละ 3 แสนบาท ต่อการเสนอขายในแต่ละครั้ง และจะมีการเสนอให้มีการกำหนดมูลค่าสูงสุดการเสนอขายในแต่ละครั้งต่อผู้ลงทุนรายย่อยด้วยผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ไอซีโอ พอร์ทัล) ซึ่งกลั่นกรอง โทเคนดิจิทัลที่ขออนุญาตและกลั่นกรองความถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วนของข้อมูลในแบบแสดงรายการ (ไฟลิ่ง)
โดยต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5 ล้านบาท โดย ผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหารไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีระบบการทำตรวจสอบฐานะและคัดกรองผู้ระดมทุน รวมทั้งแผนธุรกิจ มีการตรวจสอบ Source Code ของ Smart Contract และมีกระบวนการ เพื่อทำความรู้จักตัวตนของลูกค้าและการทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ จะขอรับความคิดเห็นว่า นอกจากระบบอนุญาตเสนอขายตามปกติแล้ว ควรมีระบบอนุญาตแบบรองรับการทยอยระดมทุนหลังอนุญาตครั้งเดียวด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ระดมทุน
ทั้งนี้ แนวทางของหลักการและประกาศที่เสนอรับฟังความคิดเห็นนี้ได้ยึดตามวัตถุประสงค์กฎหมาย คือ การเปิดให้ผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลโดยสุจริตทำได้โดยถูกกฎหมาย ในขณะที่คุ้มครองผู้ลงทุนจากการถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบตามสมควร และป้องกันการฟอกเงินได้อย่างเหมาะสมการเสนอขายไอซีโอต้องยื่นไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวน รวมทั้งได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยต้องเสนอขายผ่านไอซีโอ พอร์ทัล ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.ในเรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตไอซีโอนั้น
โดยช่วงแรกจะเสนอให้เปิดเฉพาะบริษัทไทย โดยจะพิจารณาข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้ไม่มีเหตุให้สงสัยว่าผู้ระดมทุนจะไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลหรือต้องการเอาเปรียบผู้ลงทุน และกรรมการและผู้บริหารต้องไม่เป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้าม เป็นต้น
ข่าวเกี่ยวข้อง :