“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประเพณีการรับน้อง” ควรมีต่อไป? ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,264 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงผลดีหรือผลเสียของ “ประเพณีการรับน้อง” ต่อนิสิต/นักศึกษา/สถาบันการศึกษา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.29 ระบุว่า มีผลเสียมากกว่าผลดี รองลงมา ร้อยละ 45.17 ระบุว่า มีผลดีมากกว่าผลเสีย และร้อยละ 5.54 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
โดยผู้ที่ระบุว่า มีผลเสียมากกว่าผลดีได้ให้เหตุผลส่วนใหญ่ พบว่าร้อยละ 92.13 ระบุว่า การใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดการสูญเสียและสร้างความเสื่อมเสียให้กับสถาบัน รองลงมาร้อยละ 30.18 ระบุว่า การใช้อารมณ์ในการด่าทอ ก่อให้เกิดความก้าวร้าวขึ้นในหมู่คณะ และร้อยละ 22.63 ระบุว่าส่งผลกระทบต่อการเรียนของนิสิต/นักศึกษา ส่วนผู้ที่ระบุว่า มีผลดีมากกว่าผลเสีย ได้ให้เหตุผลส่วนใหญ่ พบว่า ร้อยละ 90.37 ระบุว่า เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ รองลงมาร้อยละ 30.12 ระบุว่าเป็นการฝึกให้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองและการตรงต่อเวลากล้าแสดงออกมากขึ้น และร้อยละ 27.15 ระบุว่า เป็นการฝึกการมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ด้านระดับความรุนแรงของ “ประเพณีการรับน้อง” ในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 18.91 ระบุว่า มีการใช้ความรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 54.35 ระบุว่า มีการใช้ความรุนแรงมาก ร้อยละ 21.52 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ความรุนแรง ร้อยละ 1.66 ระบุว่า ไม่มีการใช้ความรุนแรงเลย และร้อยละ 3.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่า มีการใช้ความรุนแรงมาก – มากที่สุด ได้ให้เหตุผลว่า มีข่าวออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ขาดการควบคุมดูแลจากสถาบัน ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ความรุนแรง – ไม่มีการใช้ความรุนแรงเลย ให้เหตุผลว่า ทางสถาบันมีการควบคุม ดูแล และป้องกันการรับน้องที่รุนแรง
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทลงโทษสำหรับรุ่นพี่ที่กระทำความรุนแรงในการรับน้อง โดยการตัดคะแนนความประพฤติ/พักการเรียน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.69 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ บทลงโทษไม่รุนแรงเกินไป เหมาะสมกับความผิด รองลงมา ร้อยละ 20.81 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ บทลงโทษมีความรุนแรงน้อยเกินไป ควรมีการลงโทษตามกฎหมาย ขณะที่บางส่วนระบุว่า บทลงโทษรุนแรงไป ควรมีการตักเตือนก่อน แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษา ในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงในประเพณีการรับน้อง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.28 ระบุว่า ควรต้องรับผิดชอบ เพราะ สถาบันการศึกษาเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบ นิสิต นักศึกษา ภายในสถาบันทั้งหมด รองลงมา ร้อยละ 5.30 ระบุว่า ไม่ควรต้องรับผิดชอบ เพราะ เป็นเรื่องที่เกิดจากตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับสถาบัน
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “ประเพณีการรับน้อง” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.31 ระบุว่า จัดกิจกรรมรับน้องที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อตัวรุ่นน้องและสังคม รองลงมา ร้อยละ 33.78 ระบุว่า ให้สถาบันการศึกษาออกมาตรการป้องกันการรับน้องที่ชัดเจน ร้อยละ 26.03 ระบุว่า มีการรับน้องแบบโปร่งใสโดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม ร้อยละ 19.38 ระบุว่า กำหนดรูปแบบการรับน้องให้เป็นรูปแบบเดียวกันทุกสถาบันการศึกษา ร้อยละ 12.97 ระบุว่า ออกบทลงโทษขั้นรุนแรงโดยใช้กฎหมายนอกสถาบันการศึกษา
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึง “ประเพณีการรับน้อง” ควรมีต่อไปหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.57 ระบุว่า ควรมี “ประเพณีการรับน้อง” ต่อไป เพราะ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสามัคคี ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง บางส่วนระบุว่า ควรเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อสังคม และผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมได้ รองลงมา ร้อยละ 30.14 ระบุว่า ควรยกเลิก “ประเพณีการรับน้อง” เพราะ ไม่มีความสำคัญ ไม่มีประโยชน์ ต่อการศึกษา ยังมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์กว่าการรับน้องที่สามารถเข้าร่วมได้ และเพื่อลดการเกิดปัญหาความรุนแรง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง