นิกร จำนง ในฐานะโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมหารือร่วมกับชูศักดิ์ ศิรินิล พริษฐ์ วัชรสินธุ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ภายหลังการหารือ ได้กล่าวว่า ที่ประชุมหารือได้นำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการเสนอมาปรับปรุงกับร่างของพรรคการเมืองที่บรรจุอยู่ในสภาแล้ว โดยจะมีหลักการของร่างที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1.กำหนดให้มีการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติและการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี
2.กำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งอื่น
3.กำหนดรูปแบบการออกเสียงให้เกิดความสะดวกกับประชาชน ทั้งการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น
4.กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงและต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น ส่วนการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติกำหนดให้คณะกรรมการต้องจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ
5.กำหนดให้เผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และให้คณะกรรมการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน
6.กำหนดให้การออกเสียงจะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
อย่างไรก็ตาม นิกร ระบุว่า สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะนำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) ตามที่คณะกรรมการได้หารือกันลงในเว็บไซด์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในวันพรุ่งนี้ ( 3 พ.ค.) โดยมีกำหนดรับฟังความคิดเห็นประชาชนภายใน 15 วัน หลังจากนั้น จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้รับทราบต่อไป เมื่อ ครม.เห็นชอบก็จะให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยทางคณะกรรมการตั้งใจว่า จะนำมาพิจารณาต่อจากการเปิดประชุมวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 โดยถือว่า ต้องใช้เวลาอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันต้องนำไปรวมกับ 2 ร่างที่สภาผู้แทนราษฎรนำเสนอ หลังจากนั้นจะมีการตั้งกรรหมาธิการพิจารณาขึ้นมา และเมื่อสภาเปิดประชุมในเดือนกรกฎาคม ก็จะนำเรื่องนี้มาพิจารณาทันทีและส่งให้กับวุฒิสมาชิกชุดใหม่ทันที โดยเป็นการใช้วิธีการตามปกติ
ทั้งนี้ การทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมหรือไม่นั้น นิกร กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายประชามติให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นกฎหมายที่ปรับปรุงแล้วมีประสิทธิภาพ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนนำเข้าสู่ ครม. เมื่อกฏหมายแล้วเสร็จ จะมีการเชิญ กกต.มาหารือ เรื่องงบประมาณ เพื่อกำหนดเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งจะต้องจำเป็นแล้วค่อยกำหนดระยะเวลา ดังนั้นในวันนี้ยังบอกไม่ได้ว่า การทำประชามติครั้งแรกวันไหน แต่คาดการณ์ว่า จะเกิดขึ้นหลังแก้กฎหมายประชามติแล้วเสร็จจากนี้ 5 เดือน
ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความตั้งใจต้องการที่จะให้การจัดทำประชามติเกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะจะประหยัดงบประมาณ โดยยังย้ำความตั้งใจเดิมว่า การทำประชามติในห้วงการเลือกตั้งท้องถิ่น จะเป็นการทำประชามติครั้งที่ 2 และย้ำว่าคำถามประชามติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง