การเลือกตั้งในกาตาลูญญาเมื่อ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้พรรคการเมือง 3 พรรคที่เป็นฝ่ายหนุนการแยกตัวจากสเปนได้คะแนนเสียงรวมกันแล้ว 70 จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 135 ที่นั่ง ถือได้ว่ายังคงสถานะการเป็นเสียงข้างมากไว้ได้ แต่เป็นเสียงข้างมากที่ไม่เด็ดขาด และเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งหนก่อนหน้า พวกเขาได้ที่นั่งน้อยลง 2 ที่ ได้คะแนนรวมกันแล้ว 48% ของคะแนนเสียงทั้งหมด เท่ากับว่ากลุ่มสนับสนุนเอกราชชนะก็จริง แต่เฉพาะในแง่จำนวนที่นั่ง เมื่อเทียบสัดส่วนคะแนนเสียงกันแล้ว คะแนนของพวกเขารวมได้ไม่ถึงครึ่ง
บลูกเบิร์กระบุว่า สัดส่วนคะแนนเสียงเช่นนี้ไม่พอที่จะทำให้ฝ่ายต้องการเอกราชมีอำนาจความเป็นตัวแทนคนทั้งหมดในอันที่จะประกาศแยกตัวจากสเปน ขณะที่แอนดรู ดาวลิ่ง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาตาลูญญาของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ บอกกับวอชิงตันโพสต์ว่า ผลเช่นนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้สหภาพยุโรปหรืออียูยื่นมือเข้าแทรกแซงได้ แม้ว่าจะอยากให้รัฐบาลสเปนตอบสนองกับปัญหาข้อเรียกร้องในทางที่ดีกว่าเดิม
เมื่อดูคะแนนรายพรรค ปรากฎว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดกลายเป็นพรรคที่สนับสนุนให้รวมตัว คือ พรรคซิติเซน (Ciutadans) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พรรคนี้ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดคือ 37 ที่ มากขึ้นเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งคราวที่แล้วที่พรรคได้ 25 ที่นั่ง และหนนี้ได้คะแนนเสียง 25% ของคะแนนเสียงทั้งหมด ส่วนอินเนส อามารีดาส์ (Ines Arrimadas) ผู้นำพรรคซิติเซน ประกาศว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้พรรคหนุนเอกราชไม่สามารถอ้างได้อีกต่อไปว่า พวกเขาพูดแทนความต้องการของประชากรในกาตาลูญญาทั้งหมด
ส่วนพรรคที่สูญเสียในการเลือกตั้งหนนี้คือพรรคพีเพิลส์ของนายมารีอาโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีสเปน ที่เสียที่นั่งถึง 11 ที่ให้กับพรรค ซิติเซน ที่บลูมเบิร์กรายงานว่า เป็นกลุ่มที่เรียกร้องให้ใช้มาตรการรับมือกับกลุ่มเรียกร้องเอกราชให้หนักกว่าเดิม นอกจากนั้น อีกพรรคที่เป็นพันธมิตรในกลุ่มที่ต้องการให้รวมอยู่กับสเปนตามเดิม คือ พรรคสังคมนิยม ก็ได้คะแนนลดลงอย่างมาก ผลการเลือกตั้งที่พรรคสายกลางแนวขวาอย่างพรรคซิติเซน ได้ที่นั่งมากที่สุด ทำให้เมื่อดูโดยภาพรวม คะแนนเสียงของทั้งสองกลุ่มคือทั้งที่ต้องการแยกและที่ต้องการรวมอยู่ต่อไปกับสเปนหนีกันไม่มาก ซึ่งซีเอ็นเอ็นระบุว่าทำให้สองฝ่ายยังอยู่ในสภาพงัดกัน
วอชิงตันโพสต์กล่าวในรายงานว่า ผลการเลือกตั้งยิ่งทำให้มีคำถามมากยิ่งกว่าจะเป็นทางออกให้กับปัญหาที่กาตาลูญญาเรียกร้องเอกราช คนที่ได้รับผลกระทบคือนายราฆอย ที่ก่อนหน้านี้ใช้ไม้แข็งในการจัดการกับกลุ่มเรียกร้องการแยกตัว รัฐบาลสเปนได้สั่งให้จับกุมกลุ่มผู้นำกลุ่ม สั่งยุบสภา ยึดอำนาจกลับไปสู่สภาพปกครองโดยตรงจากรัฐบาลกลาง และให้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นด้วยความหวังว่า เสียงของฝ่ายที่สนับสนุนให้ยังรวมตัวกับสเปนจะมีมากกว่าและทำให้ฝ่ายเรียกร้องเอกราชหมดพลังลง แต่ผลการเลือกตั้งหนนี้ทำให้วิธีการรับมือกับปัญหาดังกล่าวของสเปนไม่ได้ผล กลายเป็นความเพลี่ยงพล้ำอย่างมากของนายราฆอย
คนที่ได้แน่ๆ จากการเลือกตั้งหนนี้คือนายการ์ลัส ปุดจ์ดาโมน อดีตประธานาธิบดีกาตาลูญญา พรรคของเขา คือ ทูเกตเตอร์ ฟอร์ กาตาลูญญา (Junts Per Catalunya) ได้ที่นั่งมากที่สุดในกลุ่มพรรคหนุนการแยกตัว ตัวนายปุดจ์ดาโมนเองก็ได้คะแนนเสียงสูงที่สุดทั้งๆ ที่หาเสียงจากเบลเยียมเพราะอยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุม เขาเคยพูดไว้ว่าถ้าชนะการเลือกตั้งจะเดินทางกลับกาตาลูญญา แต่ทว่านายปุดจ์ดาโมนมีหมายจับรออยู่
ไม่ใช่แค่นั้น กลุ่มผู้นำพรรคที่รณรงค์ให้แยกตัวมีอยู่ 7 คนที่ได้รับเลือกตั้ง เวลานี้บางคนหลบหนีอยู่นอกประเทศหรือไม่ก็อยู่ในคุก พวกเขาจะเข้าร่วมประชุมสภาได้อย่างไรเพื่อให้กลุ่มสามพรรคนี้มีที่นั่งรวมแล้วเป็นเสียงข้างมากดังกล่าว รอยเตอร์รายงานว่า วิธีหนึ่งที่จะทำให้ไม่ถูกดำเนินคดี ก็คือยอมประกาศวางมือจากการเรียกร้องเอกราชอีก ซึ่งนั่นก็คงจะขัดกับสิ่งที่หาเสียงเอาไว้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือสละที่นั่งของตัวเองให้กับคนอื่นในพรรคที่ได้คะแนนเสียงตามมาให้เป็น ส.ส.แทน ปัญหาอีกอย่างของกลุ่มต้องการแยกตัวคือ พวกเขาจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรต่อไปในแง่ของการต่อสู้ เพราะที่ผ่านมาถูกจัดการด้วยความรุนแรงและอียูก็ไม่แทรกแซง ในขณะที่ภายในกลุ่มเองก็ไม่เป็นเอกภาพในเรื่องการต่อสู้มากเท่าเดิม
สื่อหลายรายรายงานเรื่องแนวโน้มผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะมีมากขึ้น เศรษฐกิจของกาตาลูญญากินสัดส่วน 19% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติของทั้งประเทศ ผลของการประลองพลังกันที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลสเปนและกาตาลูญญากระทบการลงทุนและธุรกิจอย่างมาก รอยเตอร์ระบุว่ามีกิจการไม่ต่ำกว่า 3,100 รายที���ย้ายสำนักงานออกจากกาตาลูญญาเพราะความไม่แน่นอน อันเป็นผลจากความตึงเครียดและความเป็นห่วงที่ว่า หากกาตาลูญญาแยกตัวจากสเปนจริง ก็คงจะต้องหลุดจากสมาชิกภาพอียูและต้องเลิกใช้เงินยูโรโดยปริยาย
ตัวเลขการลงทุนตรงในกาตาลูญญาร่วงลง 75% ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันปีที่แล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้สเปนต้องปรับตัวเลขการคาดการณ์ผลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลงสำหรับทั้งปีหน้าและปีต่อไป โดยระบุว่าเป็นผลสะเทือนจากปัญหากาตาลูญญา
อ่านเพิ่มเติม:
พลิกโผ ฝ่ายหนุนเอกราชกาตาลูญญาชนะเลือกตั้ง
กาตาลูญญาหย่อนบัตรวันนี้ วัดพลังฝ่ายเอกราช และฝ่ายรวมกับสเปน