ไม่พบผลการค้นหา
รายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2018 แสดงให้เห็นว่า รายได้ส่วนใหญ่เข้ากระเป๋าคนรวย ส่วนคนชนชั้นกลางต้องจ่ายภาษีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมแทบเป็นไปไม่ได้เลย

นายเอ็มมานูเอล เซส / นายโทมัส พิเคตที และนายกาเบรียล ซัคแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ร่วมกันเขียนรายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2018 ซึ่งเป็นการสำรวจเกี่ยวกับรายได้และความร่ำรวยของประชากร โดยผลการสำรวจออกมาว่า ผู้ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นคนรวยเพียงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด ไม่ใช่คนชนชั้นกลาง โดยที่คนรวยที่สุดร้อยละ 0.1 มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนจนร้อยละ 50 ของโลกรวมกัน

ในรายงานดังกล่าวยังระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงมากจนทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนจะเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้นไปได้ และมีแนวโน้มว่าจะมีคนจำนวนมากที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นับตั้งแต่ปี 1980 ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทวีปอเมริกาเหนือและเอเชีย ส่วนความเหลื่อมล้ำในยุโรปก็เพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง แต่ตะวันออกกลาง แอฟริกา ซับ-ซาฮารา และบราซิลยังมีความเหลื่อมล้ำสูงมากไม่เปลี่ยนแปลง โดยคนรวยร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55-65 ของรายได้รวมทั้งประเทศ แม้แต่ประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์หรือมีการควบคุมเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด อย่างรัสเซีย จีน และอินเดียก็มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก หลังจากเริ่มใช้นโยบายเปิดเสรีการค้า

รายงานนี้ยังระบุว่า รายได้ของคนส่วนใหญ่มักมาจากค่าแรงและเงินเดือน คนที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจึงหาเงินได้เท่าที่ร่างกายจะทำได้ ซึ่งมนุษย์ก็ต้องการเวลาพักผ่อน กิน เข้าสังคม ทำงานบ้านและอื่นๆ ไม่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนคนรวยมักมีรายได้ส่วนใหญ่จาก การลงทุนในหุ้นและอื่นๆ ซึ่งไม่มีขีดจำกัดว่า จะซื้อหรือขายหุ้นจำนวนมากที่สุดเท่าไหร่ การลงทุนสามารถทำเงินให้พวกเขาได้ทั้งยามหลับและยามตื่น ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 365 วันต่อปี แต่ภาษีในการซื้อขายหลักทรัพย์ก็อยู่ที่ร้อยละ 20 เท่านั้นขณะที่คนที่ทำงานได้เงินเดือนเท่าๆ กัน จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่ามาก เช่น แพทย์ ทนายความ นักบินที่อาจเสียภาษีมากถึงร้อยละ 39

นอกจากนี้ งานวิจัยได้วัดความแตกต่างทางรายได้ระหว่างชนชั้นทางเศรฐกิจและสังคมต่างๆ ช่วงปี 1913 - 1998 ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง พบว่า ในช่วงแรก มีเพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้นที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ เพราะผู้ที่มีรายได้ปานกลางมักจะได้รับการยกเว้นภาษีจนหมด โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตร 2 คนขึ้นไป แต่แผนปฏิรูปภาษีของรัฐบาลรีพับลิกันจะทำให้การลดหย่อนภาษีบุคคลหายไปเกือบ หมด แม้จะมีการลดอัตราภาษีลง ซึ่งนอกจากคนที่มีลูกมากกว่า 2 คนขึ้นไปจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมากเท่าเดิม แม้จะมีเครดิตภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า